พบพื้นที่ภัยแล้งต้องเฝ้าระวัง 37 จังหวัด มีน้ำในเขื่อนทั้งประเทศใช้ได้เพียง 14,266 ล้าน ลบ.ม

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลประทานสรุปผลการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ เผยช่วงนี้มีปริฒาณน้ำเข้าในอ่างเก็บน้ำมากขึ้น ระพบว่าช่วงนี้ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ล่าสุดพบอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ขนาดกลางอีก 412 และขนาดเล็ก 942 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมน้ำที่นำมาใช้ได้ของทั้งประเทศเพียง 14,266 ล้าน ลบ.ม ขณะที่พื้นที่ประสบภัยแล้งเฝ้าระวังภัยมี 37 จังหวัด ภาคอีสานมากที่สุด 15 จังหวัด ตามด้วยภาคเหนือ 13 จังหวัด ภาคกลาง 6 จังหวัด ใต้ 2 จังหวัด ตะวันออก 1 จังหวัด ประกาศพร้อมเดินหน้าช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งทั่วประเทศต่อไป

         ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ให้หน่วยงานเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าสู่ฤดูฝน พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยมีมาตรการระยะเร่งด่วนจำนวน 6 มาตรการ มาตรการระยะสั้น 4 มาตรการ และมาตรการระยะยาวอีก 3 มาตรการ ทั้งยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการปรับแผนการระบายน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้อยกว่าร้อยละ 30 และให้เพิ่มความเข้มงวดของการจัดสรรน้ำเพื่อให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศให้ถึงฤดูแล้งปี 2562/2563 นั้น

        นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า กรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้

       เนื่องจากในระยะนี้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำหลายแห่ง เริ่มมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯเพิ่มมากขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก กรมชลประทาน ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยปัจจุบัน(13 ส.ค. 62) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 36,170 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 12,668 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,866 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 1,485 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 942 แห่ง ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 189 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 113 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่นำมาใช้ได้ของทั้งประเทศประมาณ 14,266 ล้าน ลบ.ม

        สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,153 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 1,457 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 16,000 ล้าน ลบ.ม.

          สำหรับพื้นที่ประสบภัยแล้ง ปัจจุบันมีพื้นที่เฝ้าระวังภัยแล้ง 37 จังหวัด ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิษณุโลก และพิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม สุรินทร์ อุบลราชธานี สกลนคร ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร ศรีสะเกษ และนครพนม ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ นครนายก และภาคใต้จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสงขลา

       อย่างไรก็ตามกรมชลประทาน ได้กำหนดมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อาทิ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ การจัดรอบเวรการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด การกำจัดผักตบชวา วัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำ การประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เรื่องสถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ให้เข้าใจ การให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า สูบน้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด การแนะนำให้เกษตรกรทยอยปลูกพืชเมื่อมีฝนตกอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่ รวมทั้งให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก เป็นต้น

         ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จ.สุรินทร์ กรมชลประทาน ได้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบผลิตประปาเมืองสุรินทร์ โดยการผันน้ำจากบ่อหิน ด้วยเครื่องสูบน้ำ ส่งน้ำผ่านลำน้ำห้วยเสนงไปเก็บไว้ยังอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง สำหรับเป็นต้นทุนน้ำดิบในการผลิตประปาให้กับเมืองสุรินทร์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงแล้วประมาณ 899,730 ลบ.ม. พร้อมรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุดแล้ว

        ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์ กรมชลประทาน ได้ผันน้ำจากเหมืองหินเก่าที่มีน้ำอยู่ประมาณ 1.50 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้เครื่องสูบน้ำจากเหมืองหินส่งน้ำไปตามทางผันน้ำไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด นอกจากนี้ ยังได้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ลำจังหัน ไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำห้วยจระเจ้มาก วันละประมาณ 65,000 ลบ.ม. ตั้งแต่ 3 ก.ค. 62 ที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงขณะนี้มีการผันน้ำสะสมไปแล้วประมาณ 2.60 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดแล้วเช่นกัน

      “กรมชลประทาน ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังและสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง-น้ำท่วม รวมทั้งเตรียมพร้อมทางด้านเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ไว้ประจำในพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศ รวมกว่า 4,130 หน่วย ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตและสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน” นายสัญญา กล่าว