เครือข่ายภาคเกษตรกรทั่วไทย “สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย- สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย-เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง- กลุ่มโครงการราชบุรีประชารัฐ-พืชผักและผลไม้ปลอดภัย” ออกโรงลุกขึ้นทวงสัญญานโยบายพรรคภูมิใจไทย “ทวงคืนกำไรให้เกษตรกร” หลังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯออกนโยบายฝันหวาน-โลกสวย เรื่องสารเคมี สอนมวย รมช.เกษตรฯไปทำการบ้านให้รอบครอบก่อนฟังธงแบน 3 สารเคมี อย่าฟังเพียงคนกลุ่มเดียว
นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศครั้งล่าสุด พรรคภูมิใจไทยประกาศนโยบายหาเสียง เพื่อเรียกคะแนนจากกลุ่มเกษตรกรทั่วไทยว่า จะสร้างกำไรให้เกษตรกร ในผลผลิตมันสำปะหลังไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท, อ้อย ไม่ต่ำกว่าตันละ 1,200 บาท, ปาล์มน้ำมัน ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท, และยางพารา เป้าหมายกิโลกรัมละ 70 บาท, แต่ทำงานเพียงไม่กี่วัน
ปรากฏว่า นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เตรียมเดินเรื่องแบนสารเคมี ทั้งพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส โดยไม่ศึกษาข้อมูลมาก่อนว่า ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอย่างไร แถมแนะให้เกษตรกรใช้สารเคมีอีกชนิด “กลูโฟซิเนต” ที่มีราคาแพงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่า ไม่ทราบเพราะเหตุใด ซึ่งแนวทางดังกล่าวขัดแย้งกับนโยบายสร้างกำไรให้แก่เกษตรกร เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต และสร้างผลกระทบให้แก่ผู้บริโภคมากกว่าเดิม
“องค์กรพัฒนาภาคเอกชน หรือ NGO ในประเทษไทยให้แบนพาราควอต ที่มีค่าใช้จ่ายไร่ละ 44 บาท แต่ให้ไปใช้กลูโฟซิเนต ต้นทุนไร่ละ 324 บาท ที่ NGO ในประเทศอังกฤษ บอกว่า ก่อมะเร็งและทำลายประสาท แทนครับ อันนี้ข้อมูลจากเฟซบุ๊ค Jessada Denduanfboripant อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมอธิบายเหตุผลไว้ที่ https://www.facebook.com/jessada.denduangboripant/posts/1566768650120430“ นายมนัส กล่าว
ด้านยนางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กลุ่มโครงการราชบุรีประชารัฐ พืชผักและผลไม้ปลอดภัย กล่าวว่า ผลการตรวจสารเคมีตกค้างในพืชผลทางการเกษตรตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของกลุ่ม ไม่พบสารพาราควอต ไกลโฟเซต แต่ทำไม รมช. เกษตรฯ ที่เข้ามาทำงานเพียงไม่กี่วัน ถึงมีความพยายามแบนอย่างผิดสังเกต หรือเพราะกลุ่มสนับสนุนกัญชาเสรีของท่าน เป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่พยายามแบนสารเคมี ยืนยันว่าปัจจุบัน ยังไม่มีสารใดสามารถทดแทนพาราควอตได้ ทั้งในด้านราคา ประสิทธิภาพ แม้ก่อนหน้านี้ กรมวิชาการเกษตรได้เสนอสารชีวภัณฑ์มาให้เกษตรกรใช้ กลับพบว่า สารดังกล่าวก็มีส่วนผสมของสารเคมีเช่นเดิม
นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯ ได้ทำหนังสือขอเข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ตั้งแต่เดือนที่แล้ว เพื่อนำเสนอข้อมูลความจริงอีกด้านให้พิจารณา แต่ไม่ยอมให้เกษตรกรเข้าพบ และ รมช. โลกสวย ยังออกมาฟันธงจะแบนสารเคมีอีก จึงไม่แน่ใจว่าพรรคภูมิใจไทยต้องการดูแลความเดือดร้อนของเกษตรกรจริงหรือไม่
ขณะที่นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ได้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารพาราควอตในมิติต่าง ๆ เข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ควรให้การอบรมเกษตรต่อเนื่องในทุกสารเคมีเกษตร ไม่ควรจำกัดการใช้ จำกัดปริมาณที่สวนทางกับความเป็นจริง เหตุทำให้สินค้าขาดตลาด ก่อให้เกิดปัญหาสินค้าปลอม การนำเข้าผิดกฎหมาย สินค้าราคาสูงขึ้น
ที่สำคัญทุกภาคส่วนต้องให้ความรู้แก่เกษตรกร ใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูก อย่าไปโทษสารเคมี ทุกตัวอันตรายหมด สองปีที่ผ่านมาเกษตรกรเป็นผู้รับเคราะห์มาตลอด ตั้งแต่ข้อเสนอแบนสารเคมีของกระทรวงสาธารณสุข องค์กรอิสระ โดยท้ายสุดก็มีมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าข้อมูลต่างๆ มีหลักฐานไม่เพียงพอ และยังไม่มีสารใดมาทดแทนสารพาราควอตได้ แต่เกษตรกรก็ยังได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการต่างๆ ของกรมวิชาการเกษตรจนถึงทุกวันนี้
“ผมหวังว่า ท่าน รมช.เกษตรฯที่มาจากพรรคภูมิใจไทย และกรมวิชาการเกษตรจะทำในสิ่งที่ถูกต้องต่อพี่น้องเกษตรกร และไม่สร้างปัญหาซ้ำเติมให้เกษตรกร” นายสุกรรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายเฉลิมชัย ได้กล่าวสรุปกับนายกสมาคมเกษตรปลอดภัยว่า การอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรจะดำเนินการต่อเนื่อง โดยหาแนวทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงการอบรมได้ง่าย มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งจะพิจารณามอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการอบรมความรู้ ตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร ส่วนการใช้สารเคมียังคงยึดนโยบายเดิมคือ จำกัดการใช้สารเคมีหรือควบคุมการใช้สารเคมี ยังไม่มีมติอื่นใด
พร้อมกันนี้แกนนำเกษตรกร กล่าวว่า อยากขอให้ รมช. มนัญญา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคภูมิใจไทย ไปทำการบ้านให้รอบครอบ ท่านอย่างฟังเพียงคนกลุ่มเดียว พรรคภูมิใจไทยจึงต้องไตร่ตรองและทบทวนในการให้ข่าว และตรวจสอบข้อมูลผลดีผลเสียอย่างรอบด้านก่อนพิจารณาหรือตัดสินใจ เพราะนโยบายที่ท่านกำลังทำ และทุกสิ่งที่ท่านพูด กำลังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในวงกว้าง ทั้งในแง่ต้นทุน การนำเข้าสารเคมีผิดกฎหมาย การฉวยจากพ่อค้าคนกลาง วอนหยุดสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร และหันมาทำตามคำสัญญาเสียที