240 อำเภอ 36 จว.เสี่ยงแล้ง พบ 15 เขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำไม่ถึง30%

  •  
  •  
  •  
  •  

สทนช.ประเมินพื้นที่ฝนน้อยล่าสุด พบ 240 อำเภอ 36 จังหวัด นอกเขตชลประทานเสี่ยงขาดน้ำ เตรียมชงข้อมูลคาดการณ์น้ำไหลเข้าอ่างฯ การทบทวนการจัดสรรน้ำสิ้นฤดูฝน-แล้งหน้า ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำฯ ก่อนปลายเดือนกรกฎาคมนี้ หลังพบ 15 เขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำสำรองไม่ถึง 30 % พร้อมสั่งการ สทนช.ภาค และเลขาลุ่มน้ำลงพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำก่อนภัยแล้งจะขยายวงกว้าง

          นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝนภาพรวมของประเทศขณะนี้ปริมาณฝนตกลดลงตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ เว้นในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง ที่ยังคงมีการกระจายของฝนมากกว่าบริเวณอื่นๆ โดยคาดการณ์วันนี้(13 ก.ค.)ฝนตกหนักบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.น่าน และ จ.พะเยา ในช่วงวันที่ 13 – 15 ก.ค. 62 ประเทศไทยมีปริมาณฝนน้อย กับมีฝนหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้

สมเกียรติ ประจำวงษ์

        อย่างไรก็ตาม สทนช.ยังคงติดตามปริมาณฝนสะสม 15 วัน ที่มีปริมาณฝนตกน้อย เพื่อวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและเฝ้าระวังสถานการณ์แล้ง เพื่อชี้เป้าหมายพื้นที่เสี่ยงให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือนั้น ล่าสุดพบว่า มีพื้นที่ฝนตกในปริมาณน้อย จำนวน 240 อำเภอ 36จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 105 อำเภอ 12 จังหวัด ภาคเหนือ 61 อ้าเภอ 11 จังหวัด ภาคใต้ 70 อ้าเภอ 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 อ้าเภอ 2 จังหวัด ภาคกลาง 1 อ้าเภอ 1 จังหวัด และภาคตะวันตก 1 อ้าเภอ 1 จังหวัด ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ส่งผลทำให้ความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานอาจจะขยายวงกว้างได้

           นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า  การดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา สทนช.ได้เตรียมความพร้อมแผนรับมือป้องกันการขาดแคลนน้ำ โดยมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับสถานการณ์ในแหล่งน้ำทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำที่วิแคราะห์จากปริมาณฝนตกน้อยสะสมต่อเนื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงพลังงาน พิจารณาแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้งปี 2561/62 และแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน

          ทั้งนี้เพื่อวิเคราะห์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกพื้นที่ชลประทาน พื้นที่เสี่ยงการเกษตรที่เพาะปลูกเกินแผน และบัญชีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% เพื่อใช้วางแผนรับมือเชิงป้องกันกำหนดมาตรการประหยัดน้ำ และเพิ่มปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเร่งเก็บกักน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในฤดูแล้งถัดไป รวมถึงดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน อาทิ การปฏิบัติฝนหลวง การหาแหล่งน้ำสำรองจากการปรับปรุงสร้างทำนบหรือฝายชั่วคราวยกระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อให้สามารถสูบน้ำได้ หรือนำน้ำมาจากแหล่งน้ำอื่น รวมถึงเจาะบ่อบาดาลเพื่อป้องกันกระทบจากการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคของประชาชน

             “ภายในวันที่  18 กรกฎาคม นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแจ้งข้อมูลผลการวิเคราะห์น้ำที่ไหลเข้าอ่างโดยใช้คาดการณ์ฝนใหม่ สภาพฝนที่ผ่านมาและคาดการณ์ในช่วงฤดูฝนที่เหลือ (15 ก.ค.- 30 ต.ค.62) การตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกฤดูฝน การทบทวนการคาดการณ์ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝน เนื่องจากพบว่าฝนที่ตกในครึ่งแรกของฤดูฝน มีปริมาณน้อยกว่าที่คาดการณ์และน้อยกว่าค่าปกติ พร้อมปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับพื้นที่เพาะปลูกและน้ำต้นทุน รวมทั้งให้ทบทวนการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนอีกครั้งเพื่อประเมินปริมาณน้ำให้สามารถวางแผนจัดสรรน้ำให้กับภาคส่วนต่างๆ ในฤดูแล้งปี’62-63 ด้วย ซึ่ง สทนช. จะสรุปเสนอในการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่จะจัดขึ้นในช่วงก่อนปลายเดือนก.ค.นี้” นายสมเกียรติ กล่าว

            ขณะเดียวกัน สทนช.ยังได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค และเลขานุการลุ่มน้ำ ลงพื้นที่จังหวัดที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำทุกจังหวัดภายในต้นสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป โดยเฉพาะ จ.สุรินทร์ และจ.บุรีรัมย์ เพื่อหารือกับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์ หากคาดว่าจะรุนแรงขึ้นหรือขยายพื้นที่ สทนช.จะพิจารณาเชิญผู้เกี่ยวข้องประชุมในพื้นที่โดยด่วน เพื่อกำหนดแนวทางมาตรการ แผนฏิบัติการอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ที่ต้องเตรียมแผนรองรับในการหาแหล่งน้ำสำรองให้กับประชาชน พร้อมบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องไม่ให้ผลกระทบแล้งในช่วงฤดูฝนขยายวงกว้าง เพื่อสรุปรายงานต่อ กนช.ด้วยเช่นกัน ซึ่งเบื้องต้นในวันจันทร์นี้ (15 กค.62) เวลา 10.00 น. สทนช.ภาค3 และเลขาฯลุ่มน้ำมูล กำหนดจัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ณ ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์

   

         เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อไปว่า  สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำต้นทุนรวมของทั้งประเทศอยู่ที่ 39,431 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 49% โดยแหล่งที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาตรน้ำน้อยกว่า 30% แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 15 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง  เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำนางรอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนคลองสียัด และบึงบอระเพ็ด รวมถึงแหล่งน้ำขนาดกลาง 136 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 15 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 96 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง ภาคกลาง 11 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่ง โดยปัจจุบันคงเหลือพื้นที่ประกาศภัยแล้ง ปัจจุบันคงมี 2 จังหวัด คือ ตาก มหาสารคาม จำนวน 4 อำเภอ 24 ตำบล 171 หมู่บ้าน