สภาเกษตรกรฯจับมือ สำนักป.ป.ส. เดินหน้าต่อโครงการความร่วมมือด้านงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด ปีนี้เน้นสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนว่า กัญชายังเป็นยาเสพติดเหมือน อนญาตให้ปลูกสำหรับวงการแพทย์เท่านั้น พร้อมเตรียมเดินสายทุกภาคสรุป 6 ปี สกช.ทำอะไรบ้าง ประเดิมก่อนที่ส่วนกลาง 22 เมษายน 2562 นี้
ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ (สกช.)เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ทางสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ( ป.ป.ส.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด
ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมมือกันเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในโทษ พิษภัยของยาเสพติด เข้าใจงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีส่วนร่วมในการชักชวน แนะนำผู้เสพและผู้ติดยาเข้าสู่ขบวนการบำบัด และช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสาร นโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ. ศ.2553 ที่กำหนดบทบาทภารกิจของสภาเกษตรกรแห่งชาติตามมาตรา 11(8) พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร
การดำเนินงานที่ผ่านมามีความร่วมมือระหว่างกันด้วยดี โดยในปี 2560 และปี 2561 ในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ร่วมกันสร้างความเข้าใจกับบุคลากรเพื่อการทำงานในระดับพื้นที่ให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องของโทษและพิษภัยยาเสพติดรวมทั้งการป้องกันภัยจากยาเสพติดในระดับจังหวัด อำเภอ และชุมชนต่อไป
สำหรับในปีงบประมาณ 2562 นี้ สำนักงาน ป.ป.ส.ได้สนับสนุนการจัดโครงการพัฒนาเครือข่ายสภาเกษตรกรป้องกันภัยยาเสพติด เป้าหมายเพื่อให้มีการสร้างเครือข่ายสภาเกษตรกรเพื่อป้องกันภัยยาเสพติดระดับตำบลฯ ได้ตระหนักถึงพิษภัยด้านยาเสพติดจนเกิดภูมิคุ้มกันในตนเองและครอบครัวขยายผลสู่ชุมชน รวมทั้งการถ่ายทอดข้อมูลด้านยาเสพติดให้กับเพื่อนเกษตรกรด้วยกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งในการดำเนินการโครงการจะแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วน คือการบรรยายสถานการณ์ปัญหายาเสพติด ความรู้เรื่องโทษ พิษภัยยาเสพติด
เนื่องจากปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ส.ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ให้สามารถนำกัญชามาใช้เพื่อป้องการและรักษาโรคได้ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนยังมีความสับสนในเรื่องกัญชาที่จะนำมาใช้เพื่อการป้องกันและรักษาโรค จึงจะมีการให้ความรู้ด้วยว่าขณะนี้กัญชายังคงเป็นยาเสพติดอยู่ยกเว้นการจะปลูกหรือใช้สารสกัดกัญชาเพื่อการป้องกันและรักษาโรคจะต้องทำอย่างไรก็จะได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมด้วย
หลังจากนั้นจะเป็นการระดมความเห็นแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพในการรับและส่งต่อข้อมูลเพื่อกระจายการรับรู้ให้ประชาชน และความเห็นด้านการขยายเครือข่ายป้องกันภัยยาเสพติด ส่วนที่สำคัญอีกส่วนคือในการจัดโครงการนี้จะมีการสรุปผลงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาเกษตรกรจังหวัด ที่ดำเนินการในระยะเวลา 6 ปีว่าได้ทำอะไรไปบ้าง โดยจะมีการระดมความเห็นการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของแต่ละอำเภอว่าเป็นอย่างไร มีข้อเสนอใดต่อจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการนี้จะเริ่มต้นจัดนำร่องที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 22 เมษายน 2562 ณ เรสคิวฟาร์ม แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ จากนั้นจะจัดให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2562
“ ความแตกต่างของโครงการนี้กับโครงการปี 60 และปี 61 คือ หลังจบจากงานเวทีประชุมสัมมนาจะเป็นการเริ่มต้นการจัดตั้งกลุ่มการสื่อสารแบบ 2 ทาง คือข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรและการป้องกันภัยยาเสพติดจากส่วนกลางจะสื่อสารลงไปถึงกลุ่มเครือข่ายสภาเกษตรกรในระดับตำบล ทุกตำบลที่กลุ่มเครือข่ายป้องกันภัยจากยาเสพติดได้จัดตั้งขึ้นด้วยระบบออนไลน์ ในขณะเดียวกันสถานการณ์การเกษตร สถานการณ์การป้องกันภัยยาเสพติดจากเครือข่ายทุกตำบลจะสื่อสารขึ้นมาสู่ส่วนกลาง เรียกได้ว่าคลิกเดียวรู้ทุกตำบล ซึ่งผลความร่วมมือจะมุ่งไปที่การป้องกันตนเอง ครอบครัว ชุมชนของเกษตรกรไม่ให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ” ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล่าว