ชี้ปม พ.ร.บ.คอนแทรกฟาร์มมิ่งมีปัญหา”อ่อนปชส.”

  •  
  •  
  •  
  •  

คณะทำงานชุดใหม่ ศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา สภาเกษตรกรฯ เริ่มสตาร์ทเครื่องแล้ว หลังพบมีปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่ ระบุ 2 ประเด็นที่ต้องขับเคลื่อน “การประชาสัมพันธ์ เน้นความรู้ด้านเนื้อของกฎหมาย -กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาท” ยอมรับที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เข้าใจขั้นตอนของการทำข้อตกลงสัญญาซื้อ-ขายผลผลิตทางการเกษตร ชี้ต้องประชาสัมพันธ์ 

        นายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายเกษตรพันธสัญญา สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติ  ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (พ.ร.บ.คอนแทรกฟาร์มมิ่ง) พ.ศ.2560 ได้ประกาศและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา พบว่ากระบวนของระบบเกษตรพันธสัญญายังมีปัญหาเกิดขึ้นในบางพื้นที่ สภาเกษตรกรแห่งชาติจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่ศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายเกษตรพันธสัญญา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 โดยคณะทำงานฯมีอำนาจ หน้าที่คือ ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลและสภาพปัญหาที่มีผลต่อการทำเกษตรพันธสัญญา เสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไข โดยจัดทำข้อเสนอเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิให้กับเกษตรกร เสนอหลักเกณฑ์ มาตรการและวิธีการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน เป็นต้น ซึ่งจากปัญหาในพื้นที่ รวม 2 เรื่องหลักคือ

       การประชาสัมพันธ์ ความรู้ด้านกฎหมายของระบบเกษตรพันธสัญญา เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เข้าใจขั้นตอนของการทำข้อตกลงสัญญาซื้อ-ขายผลผลิตทางการเกษตร ผู้ประกอบการต้องขึ้นทะเบียน ความกังวลต่อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในเรื่องนี้นายสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล หัวหน้ากลุ่มกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับเรื่องไปกำหนดแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกษตรกรรับทราบสาระสำคัญและแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ เช่น การทำสัญญา รวมถึงการแจ้งข่าวสารในพื้นที่ เช่น ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรพันธสัญญา โดยขอความร่วมมือให้สภาเกษตรกรจังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนเกษตรกรทำความเข้าใจกับเกษตรกรในเรื่องนี้ด้วย

        อีกหนึ่งคือกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาท เกษตรกรมีความเกรงกลัวต่ออิทธิพลของผู้ประกอบการในการเผชิญหน้า ซึ่งขั้นตอนนี้บุคคลที่เหมาะสมในการทำหน้าที่ประธานการไกล่เกลี่ย ควรเป็นอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาจังหวัด ซึ่งขั้นตอนในการเจรจาไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นภายในจังหวัด ไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรอย่างแท้จริง และทำให้เกษตรกรต้องยอมรับสภาพหนี้สิน โดยมิอาจทำการโต้แย้งได้

        อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯ ได้พิจารณาร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น เนื่องจากกฎหมายเพิ่งประกาศใช้จึงยังไม่สามารถเสนอปรับปรุงได้ โดยจะนำเรื่องนี้ไปหารือร่วมกัน 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ต่อไป