พิษ”ปาบึก”คร่าพื้นที่เกษตรอ่วมแล้วกว่าแสนไร่

  •  
  •  
  •  
  •  

พิษ “ปาบึก” คร่าพื้นที่ภาคเกษตรเกษตรแล้วใน 3 จังหวัด “นครศรีธรรมราช- สงขลา- ปัตตานี” เฉพาะพื้นที่เพาะปลูกระทบถึง 89,969 ไร่ เกษตรกรเดือดร้อน 29,073 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกระทบ 20,800 ไร่ สัตว์เลี้ยงอีกกว่า 4,000 ตัว กระทรวงเกษตรฯ ส่งให้เร่งสำรวจพื้นที่การเกษตรประเมินความเสียหาย ทั้งชลประทาน-ประมง-ปศุสัตว์ พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คาด 7 ม.ค.62 สถานการณ์จะดีขึ้นฝนลดลง

นายสุรจิตต์ อินทรชิต รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการและบัญชาการณ์สถานการณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศอบ.กษ.) พายุโซนร้อนปาบึก เปิดเผยว่า ตามที่พายุโซนร้อน ปาบึก ได้เคลื่อนลงสู่ทะเลอันดามันแล้วนั้น ทำให้จะเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และมีลมกรรโชกแรงมีความเสี่ยงที่จะมีมวลน้ำสะสมจากท่ีสูง น้ำท่วม น้ำหลาก ดินโคลนถล่ม และคลื่นซัดฝั่งรุนแรง ส่งผลให้บ้านเรือน ทรัพย์สินทางการเกษตร ทั้งสวนยางพารา สวนปาล์ม โดยเฉพาะสวน ที่มีต้นไม้ขนาดเล็ก นาข้าว สวนผัก เรือประมงและเครื่องมือประมง บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตลอดจนสัตว์เล็ก ได้รับเสียหายเล็กน้อย จนถึงเสียหายสิ้นเชิง

หมายเหตุ : ภาพประกอบ

          ล่าสุดได้รับรายงานผลกระทบด้านการเกษตรในพื้นที่ แบ่งเป็น ด้านพืช 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี เกษตรกร 129,073 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 89,969 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 20,406 ไร่ พืชไร่ 4,530 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 65,033 ไร่ ด้านปศุสัตว์ 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรกร 2,763 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 4,006 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 3,271 ตัว แพะ-แกะ 185 ตัว สัตว์ปีก 550 ตัว ด้านประมง 1 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช เกษตรกร 5,600 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 20,800 ไร่ แบ่งเป็น บ่อปลา 11,600 ไร่ บ่อกุ้ง/ปู/หอย ทะเล 9,200 ไร่ ตลอดจนเรือประมงพื้นบ้ทนที่จอดเทียบบริเวณชายหาด ได้รับความเสียหาย จากการเกิดเหตุการณ์คลื่นลมแรง และน้ำขึ้นสูงท่วมชายฝั่ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเลจังหวัดระยอง ในพื้นที่อำเภอเมืองระยอง อำเภอบ้านฉาง และอำเภอแกลง รวม 50 ลำ ในขณะนี้หน่วยงานกรมประมง ร่วมบูรณาการตรวจสอบความเสียหาย และจะรายงานให้ทราบเป็นระยะต่อไป

นายสุรจิตต์ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงขอให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการ อาทิ 1) เฝ้าระวัง/เตือนภัย พื้นท่ีเสี่ยงที่จะเกิดจากน้ำป่าไหลหลาก และเกิดน้ำท่วมฉับพลัน พื้นที่เกษตรลุ่มต่ำ พื้นที่ริมเชิงเขา ริมแม่น้ำลำคลอง ซึ่งมีความเสี่ยง 2) จัดเจ้าหน้าที่วิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นายสัตวแพทย์ วิศวะกรชลประทาน แบ่งกำลัง ประเมินความเสียหายเบื้องต้น ให้คำแนะนำการดูแลพืช ปศุสัตว์ ประมง รวมทั้งแจ้งสิทธิการรับการช่วยเหลือจากรัฐตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3) จัดทรัพยากร อาทิ ยานพาหนะที่เหมาะสม วัสดุอุปกรณ์การช่วยเหลือฟื้นฟู เอกสารคำแนะนำ ฯลฯ 4) เร่งประเมินความเสียหายเบื้องต้นและเร่งจัดเครื่องสูบน้ำ การขุดเปิดทางระบายน้ำโดยทันที 6) หากจังหวัดใดต้องการสนับสนุนกำลังพล และทรัพยากรเพิ่มเติม ให้ร้องขอมาที่ ศอบ.กษ. โดยทันที 7) ให้ประมงจังหวัด เฝ้าระวังคลื่นซัดฝั่งซึ่งจะกระทบต่อเรือประมง บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่ง และ 8) ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจการเกษตรเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การวางแผนการช่วยเหลือฟื้นฟูต่อไป

           สำหรับการช่วยเหลือ ด้านชลประทาน เร่งระบายน้ําในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 26 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 26 เครื่อง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 2 เครื่อง ด้านปศุสัตว์ จัดส่งหญ้าพระราชทานจากชัยนาทลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 400 ฟ่อน แจกจ่ายเสบียงสัตว์ 3,000 กิโลกรัม และถุงยังชีพ สัตว์ 436 ชุดในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส นครศรีธรรมราช และปัตตานี ด้านประมง เตรียมเรือท้องแบน จำนวน 67 ลำ เพื่อสนับสนนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งนี้ แนวโน้มสถานการณ์ ฝนจะลดลงในช่วงวันท่ี 7 ม.ค. 62 แต่ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในภาคฝั่งตะวันออก คลื่นลมชายฝั่งแรง และน้ำทะเลหนุนสูง ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม