แฉข้อมูลผู้ค้าน 3 สารเคมีเกษตรเจ้าปัญหาอ้างไร้งานวิจัยที่ชัดเจน

  •  
  •  
  •  
  •  

รุปผลรับฟังความคิดเห็น 3 สารเคมี เพื่อเกษตร “พาราควอต-คลอร์ไพรีฟอส-ไกลโฟเซต” เกษตรกรยืนยันต้องยื่นข้อมูลต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้พิจารณาใหม่ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561นี้ หลังกลุ่มเกษตรกรตรวจสอบข้อมูลพบหลักฐานสำคัญที่ผู้ต่อต้านมาอ้างที่ไม่ใช่ผลงานวิจัยที่ชัดเจน

      วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561 นายวราวุธ ชูธรรมธัช รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับสารเคมี 3 ชนิด คือสารพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

        1) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต นำเข้า ส่งออก มีไว้ครอบครองของ 3 สารเคมี 2) การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตรายและที่แก้ไขเพิ่มเติม และ 3) กำหนดฉลากและภาชนะบรรจุ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นประมาณ 250 คน ทั้งผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนกลุ่มสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ องค์กรอิสระ เกษตรกรและผู้ที่สนใจ โดยกลุ่มเกษตรกรกว่า 50 รายเตรียมนำผลสรุปร่างฯ พร้อมหลักฐานสำคัญ ยื่นเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561

            นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สรุปสาระสำคัญของการจัดประชุมฯ ว่า ร่างประกาศฯ ของกรมวิชาการเกษตรนำเสนอในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ยากในเชิงปฏิบัติทั้งในแง่เวลาและงบประมาณ รวมถึงจำกัดสิทธิเสรีภาพของเกษตรกร อาทิ กรอบเวลาในการอบรมเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวนกว่า 20 ล้านรายในระยะเวลา 90 วัน หลังจากประกาศฯ อนุมัติ เป็นสิ่งที่กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการจริงได้ยากด้วยระยะเวลาที่น้อย แต่ผู้ที่ต้องอบรมมีจำนวนมาก

            ดังนั้นหากกรมวิชาการเกษตร ไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็จะทำให้มีกลุ่มคนที่ต่อต้านสารเคมีเกษตรออกมาเรียกร้องให้ แบน อีก ทั้งนี้ การไม่สามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบที่ออกมา บทลงโทษจะตกอยู่ที่เกษตรกร การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ไม่มีความเหมาะสม ขาดองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ทั้งที่ในความเป็นจริง ควรเป็นบุคลากรของกรมวิชาการเกษตรเอง

            สำหรับแนวทางการดำเนินงานต่อไปของภาคเกษตรกร จะนำข้อมูล ผลวิเคราะห์ และการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รวบรวมได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้สารเคมีเกษตร นำยื่นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยเร็วที่สุด เพื่อนำไปสู่การพิจารณาตัดสินใหม่ให้สามารถ “ใช้สารเคมีได้อย่างเหมาะสม” เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในกรมวิชาการเกษตรว่า จะนำส่งข้อมูลและความคิดเห็นจากกลุ่มเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในครั้งนี้ให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย

      “การนำมาอ้างควรมีหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เป็นในทิศทางเดียวกันในสารเคมีทุกชนิด โดยให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติและใช้สารเคมีของเกษตรกรเป็นหลัก คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริง เพื่อยกระดับเกษตรปลอดภัยของประเทศไทยให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน” นายสุกรรณ์ กล่าว

         ด้าน นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และหนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบพบหลักฐานสำคัญหลายประการเกี่ยวกับการกล่าวอ้างถึงผลกระทบสารเคมี โดยข้อมูลดังกล่าวขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และปราศจากผลวิจัยที่ชัดเจน เช่น ไม่มีหลักฐานการนำส่งตัวอย่างไปตรวจสอบสารตกค้างมาพิสูจน์ รับรองผลการศึกษา จึงได้รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เตรียมยื่นเพิ่มเติมเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไป