กระทรวงเกษตรฯ ดึงทุกภาคส่วน เตรียมแผนรับมืออุทกภัยภาคใต้ ปี 2561 ที่ประชุมร่วมลงมติเห็น 4 แนวทาง แก้น้ำท่วม “ทุกหน่วยงานราชการวางระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ-ปรับปรุงแก้มลิงไว้กักเก็บน้ำ –รณรงค์ให้ประชาชนรู้จักกักเก็บน้ำเอง- เตรียมความพร้อมช่องทางการระบายน้ำทั้ง 111 จุด” ขณะที่กรมชลประทานระดม เครื่องมือ-อุปกรณ์ 1,106 หน่วย 75 จุดตั้งแต่จ.เพชรบุรี ยันถึงนราธิวาส ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
วันที่ 11 ตุลาคม 2561นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการเตรียมการรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2561 และพิธีปล่อยกองคาราวานเครื่องจักรเครื่องมือเตรียมรับสถานการณ์ช่วยเหลือประชาชนจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ณ สำนักงานชลประทานที่ 10 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ รวมทั้งมาตรการในการรองรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้
อย่างไรก็ตามในการประชุมเตรียมการรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้นี้ เป็นการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อร่วมกันเสนอแนวทางและวางมาตรการในการเตรียมรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนของภาคใต้ที่กำลังจะมาถึง และเพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันในการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
“ทุกหน่วยงานที่มาร่วมประชุมในวันนี้ มีมติเห็นชอบในแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน 4 แนวทาง คือ 1. ทุกหน่วยงานราชการวางระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการข้อมูลทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ อาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสื่อสารไปยังประชาชนอย่างทันท่วงที,2. ปรับปรุงแก้มลิงเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และวางระบบระบายน้ำล่วงหน้าให้ทันก่อนเข้าฤดูฝน ดังตัวอย่างแก้มลิงหนองใหญ่ จังหวัดชุมพร,3. รณรงค์ให้ประชาชนรู้จักกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค ที่มีมากในหน้าฝน ไว้ใช้ในยามภาวะฝนแล้ง และ4. เตรียมความพร้อมช่องทางการระบายน้ำทั้ง 111 จุด ให้พร้อมใช้งานในยามน้ำหลาก” นายวิวัฒน์ กล่าว
ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันพื้นที่ภาคใต้ใกล้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว สถานการณ์น้ำในภาพรวมของภาคใต้ ประกอบไปด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมทั้งหมด 6,646 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างฯ รวมกัน อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 39 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมกัน 379 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯรวมกัน และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 157 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมกัน 32 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯรวมกัน
[adrotate banner=”3″]
สรุปภาพรวมของอ่างเก็บน้ำทั้งหมดในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันทั้งสิ้น 7,057 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุอ่างรวมกันทั้งหมด โดยกรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำพื้นที่ภาคใต้ในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เริ่มตั้งแต่การบูรณาทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำการจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่พร้อมปฏิบัติงานแล้วในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบไปด้วย เครื่องสูบน้ำ 453 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 300 เครื่อง รถแทรกเตอร์/รถตัก 108 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีก 245 หน่วย
รวมทั้งสิ้น 1,106 หน่วย ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนพื้นที่หรือจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมภาคใต้ ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ลงไปจนถึง จ.นราธิวาส มีทั้งสิ้น 75 จุด ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รวมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำการไว้ในพื้นที่แล้ว ซึ่งจะสามารถปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานและรองรับปริมาณน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำท่วมเป็นพิเศษในแต่ละจังหวัด การควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด การวางแผนบริหารจัดการ (แผนเผชิญเหตุ) ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเป็นประจำทั้ง 16 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย พ.ศ. 2561 โดยในแต่ละจังหวัดจะมีแผนบริหารจัดการน้ำตามบริบทของแต่ละพื้นที่ การดำเนินการกำจัดวัชพืชในแม่น้ำ ลำคลองต่างๆ รวมทั้งกำหนดจุดรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ชลประทาน ในการเฝ้าจุดเสี่ยงอุทกภัย เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าไว้รองรับสถานการณ์และพร้อมเข้าช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเหตุวิกฤต