“สทนช.”เดินหน้าสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำของประเทศ ตอกย้ำภารกิจองค์กรมุ่งบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับชาติ- ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์น้ำ20ปี พร้อมจัดตั้ง“ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ”เพื่อทำหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังเดินสายพบปะสื่อมวลชนเพื่อแนะนำบทบาท ภารกิจในการก่อตั้ง “สทนช.” รวมทั้งชี้แจงแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำของชาติทั้งระยะสั้น-ระยาวในอนาคต ตลอดจนสร้างการรับรู้เข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศในเชิงรุกแก่สื่อมวลชนซึ่งถือเป็นกลไกลสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่สาธารณชนและประชาชนในประเทศว่า ตามที่รัฐบาลได้ปรับปรุงกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศใหม่ให้มีระบบและมีเอกภาพยิ่งขึ้น จากเดิมที่ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรงโดยการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)ขึ้นมาภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้งสำนักงานฯ ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.61 และแต่งตั้งเลขาธิการคนแรก เมื่อวันที่ 22 พ.ย.60 ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ 38 หน่วยงาน รวมทั้งพิจารณาแผนงาน โครงการ งบประมาณน้ำด้าน เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อน และแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการของประชาชน
ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานของสทนช.มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คณะกรรมทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯขึ้นมา 4 คณะ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจหลักของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่บรรลุผล และมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2) คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง วิเคราะห์โครงการ และติดตามประเมินผลการบริหารจัดการ 3) คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ 4) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1) จัดทำ ขับเคลื่อน (แผนยุทธศาสตร์/ แผนแม่บท/ แผนปฏิบัติการ/ พรบ.ทรัพยากรน้ำ),2) กลั่นกรอง ติดตามประเมินผล แผนงาน และงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับด้านน้ำ,3) คาดการณ์สถานการณ์น้ำ/Single Command Center/ จัดสรรน้ำ, และ 4) ทำแผน กำกับดูแล ประสาน สั่งการ ขับเคลื่อน ติดตามประเมินผล โครงการสำคัญ และโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายการแก้ปัญหาและการพัฒนาอย่างเป็นระบบ (Area based) จำนวน 66 พื้นที่ รวม 29.7 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำ (53 พื้นที่ 17.2 ล้านไร่) และ พื้นที่ที่ต้องสนับสนุนการพัฒนา 13 พื้นที่ 12.5 ล้านไร่ มีโครงการสำคัญเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว และพร้อมดำเนินงานในปี 2562 – 2565 รวม 31 โครงการ จะสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 4,325 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 4.87 ล้านไร่
ส่วนปี 2562 มีความพร้อม 12 โครงการ เพิ่มน้ำต้นทุนได้ 378 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 959,051 ไร่ ดังนี้ 1)ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 โครงการ : บรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่1) จ.ชัยภูมิ / อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี จ.ชัยภูมิ / ประตูระบายน้ำบ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำ จ.สกลนคร / อ่างเก็บน้ำลำสะพุง จ.ชัยภูมิ /แผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย / ประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย / ประตูระบายน้ำ ลำน้ำพุง-น้ำก่ำพร้อมคลองผันน้ำ จ.สกลนคร2)ภาคกลาง 4 โครงการ : อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแสนแสบ กทม. / อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองทวีวัฒนา กทม. /อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร กทม. /คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา3)ภาคใต้ ได้แก่โครงการบรรเทาอุทกภัยนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
“รัฐบาลจะมุ่งมั่นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะต่อไปได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการสำคัญ โดยจะสืบสานปณิธานตามแนวทางพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบรรลุผล และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน” นายสมเกียรติ กล่าว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในห้วงฤดูฝน ปี 2561 ด้วยว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) เป็นประธาน ทำหน้าที่บริหารจัดการ อำนวยการ ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ และสั่งการเพื่อป้องกัน เตือนภัย และบรรเทาจากน้ำ และได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เมื่อวันที่ 2 ส.ค.61 โดยมีหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องจาก 9 หน่วยงาน ร่วมบูรณาการทำหน้าที่อำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การติดตาม การวิเคราะห์แนวโน้ม การควบคุม กำกับ ดูแล และเพื่อบูรณาการจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งติดตามผลกระทบจากน้ำท่วมในฤดูฝนและพื้นที่แห้งแล้งในฤดูฝนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ