ศูนย์เฉพาะกิจฯ ประเมินฝนยังตกต่อเนื่องครอบคลุมหลายพื้นที่ คาด 37 จังหวัดเสี่ยงฝนตกหนัก ส่งผลเติมน้ำในเขื่อนเกิน 80% ถึง 114 อ่างฯ ด้านเขื่อนเฝ้าระวังพิเศษคงเหลือ 5 เขื่อน หลังเขื่อนศรีนครินทร์ระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมแล้ว
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ประจำวันที่ 18 ก.ย. 61 ว่า เมื่อเวลา 04.00 น. พายุโซนร้อน “มังคุด” (MANGKHUT) บริเวณประเทศจีนมีศูนย์กลางบริเวณเมืองคุนหมิง ประเทศจีน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย และคาดว่าในวันนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณมณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยในช่วงวันที่ 18-19 ก.ย.61 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยจะยังคงมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้ ประกอบกับในช่วงวันที่ 19-20 ก.ย.61 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ทำให้บริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม
สถานการณ์ฝนวันนี้มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก 37 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล สงขลา และฝนตกหนักมาก 2 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ จ.น่าน 120 มม. เชียงราย 72 มม. พะเยา 77 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สกลนคร 106 มม. มุกดาหาร 79 มม. บึงกาฬ 56 มม. หนองคาย 55 มม. กาฬสินธุ์ 53 มม. นครพนม 47 มม. อุดรธานี 45.6 มม. ภาคตะวันออก จ.สระแก้ว 41 มม. ตราด 41 มม. และภาคใต้ จ.พังงา 118 มม. ระนอง 106 มม. ชุมพร 66 มม. สุราษฎร์ธานี 66 มม. สตูล 54 มม. กระบี่ 44 มม. ปัตตานี 40 มม. ส่วนภาคกลางและภาคตะวันตกมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง
[adrotate banner=”3″]
จากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “มังคุด” รวมกับอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลทำให้เกิดน้ำไหลหลากในหลายพื้นที่ และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางเกินกว่า 80% เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 114 อ่างฯ แบ่งเป็น อ่างฯที่ความจุเกิน 100% มีทั้งสิ้น 22 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ เขื่อนน้ำอูน ขนาดกลาง 21 แห่ง ส่วนอ่างเฝ้าระวัง 80-100% มีทั้งสิ้น 92 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 10 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน 98% เขื่อนวชิราลงกรณ 93% เขื่อนศรีนครินทร์ 92% เขื่อนนฤบดินทรจินดา 93% เขื่อนขุนด่านปราการชล 86% เขื่อนรัชชประภา 84% เมื่อวาน 83% เขื่อนสิริกิติ์ 82% เขื่อนกิ่วคอหมา 84% เขื่อนลำตะคอง 81% เขื่อนประแสร์ 82% ส่วนอ่างขนาดกลางมีทั้งสิ้น 82 แห่ง ซึ่งหลายเขื่อนที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากขึ้นจะส่งผลดีต่อการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง ซึ่ง สทนช.ได้กำชับและเน้นย้ำทุกหน่วยงานติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยของเขื่อนอย่างใกล้ชิดโดยต่อเนื่อง จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ด้วย
ด้านอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเนื่องจากมีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุนั้น ล่าสุดเขื่อนศรีนครินทร์ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมแล้ว ปัจจุบันจึงคงเหลือเขื่อนเฝ้าระวังพิเศษเพียง 5 แห่งตามลำดับ ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร คิดเป็น 103% เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี คิดเป็น 98% เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี คิดเป็น 93% เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี คิดเป็น 93% และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก คิดเป็น 86% ซึ่งทุกเขื่อนมีปริมาณน้ำไหลเข้าลดลง ขณะที่การระบายออกยังคำนึงถึงสถานการณ์ฝนและผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำอย่างต่อเนื่อง.