เร่งระบายน้ำเขื่อนใหญ่รับฝนระลอกใหม่ แก่งกระจานลดแล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  

ศูนย์เฉพาะกิจฯ ชี้แผนพร่องน้ำเขื่อนแก่งกระจานเป็นผลน้ำลดระดับต่อเนื่อง คาดภายในวันนี้ไม่มีน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้น แต่ยังเร่งแผนระบายน้ำต่อเนื่องเพื่อรองรับฝนตามคาดการณ์ พร้อมห่วงปริมาณฝนส่งผลน้ำไหลเข้าอ่างฯ ขนาดกลางมากขึ้น เร่งทุกหน่วยเดินหน้าพร่องน้ำเพิ่ม

        นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ประจำวันที่ 13 ก.ย. 61 ว่า จากการคาดหมายลักษณะอากาศ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าช่วงวันที่ 13 – 18 ก.ย. 61 ประเทศไทย จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งจากการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนขณะนี้ พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาตรน้ำในอ่างฯขนาดใหญ่มี 54,532 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 ปริมาณน้ำในอ่างฯขนาดกลาง มี 3,127 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 รับน้ำได้อีก 18,443 ล้าน ลบ. ม.

สำหรับอ่างฯที่ความจุเกิน 100% ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น เป็นอ่างฯขนาดกลาง ปัจจุบันมี 17 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 4 แห่ง แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 แห่ง เพิ่มขึ้น 3 แห่ง ภาคตะวันออก 4 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ขณะที่อ่างฯขนาดใหญ่ 2 แห่ง มีปริมาณน้ำคงที่และลดลง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน 105 % โดยในวันนี้จะมีการปรับแผนเพิ่มการระบายน้ำตามการคาดการ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสนก. เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะตกในพื้นที่ด้วย ขณะที่เขื่อนแก่งกระจาน 100 % ลดลงจากเมื่อวาน 1% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1 ซม. ลดลง 12 ซม. ซึ่งคาดว่าในวันนี้จะไม่มีน้ำไหลผ่านสปิลเวย์หากไม่มีฝนตกเหนือเขื่อนเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเร่งพร่องน้ำตามการคาดการณ์ฝนที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องด้วย

ส่วนอ่างฯเฝ้าระวัง ความจุ 80-100% เป็นอ่างฯ ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ส่วนใหญ่ปริมาณน้ำทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ 94% ลดลงจากเมื่อวาน 1% เขื่อนศรีนครินทร์ 92% เท่าเดิม เขื่อนรัชชประภา 84% เท่าเดิม  เขื่อนขุนด่านปราการชล 85% เท่าเดิม เขื่อนนฤบดินทรจินดา 89% เท่าเดิม แต่อ่างฯ ขนาดกลางมีทั้งสิ้น 72 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 8 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 10 แห่ง เพิ่มขึ้น 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 43 แห่ง เพิ่มขึ้น 4 แห่ง ภาคตะวันออก 12  แห่งเท่าเดิม ภาคกลาง 6 แห่ง เพิ่มขึ้น 2 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง เท่าเดิม ซึ่งศูนย์เฉพาะกิจฯ ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ฝนและอิทธิพลของพายุบารีจัต และมังคุด  โดยเบื้องต้นคาดว่าพายุบารีจัตจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่กลับจะเป็นผลดีต่ออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้ำน้อย

[adrotate banner=”3″]

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ฝนวันนี้มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก 36 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด โดยปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมาก สูงสุดที่ จ.น่าน 118 มม. จ.จันทบุรี 106 มม. จ.มุกดาหาร 94 มม. อำนาจเจริญ 94 มม. ฉะเชิงเทรา 80 มม. บุรีรัมย์ 77 มม. อุบลราชธานี 72 มม. สุโขทัย 69 มม. ระยอง 69 มม. กรุงเทพมหานคร 67 มม. ปทุมธานี 66 มม. เชียงราย 64  มม. พระนครศรีอยุธยา 60 มม. เพชรบูรณ์ 59 มม. จ. นครสวรรค์ 58 มม.และ จ.พะเยา 51 ตามลำดับ

        ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำสำคัญๆ ที่ยังพบว่ามีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งแต่มีแนวโน้มทรงตัวและลดลง ได้แก่ แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร อ.เซกา จ.บึงกาฬ แนวโน้มลดลงตามการลดลงของแม่น้ำโขง ห้วยหลวง จ.อุดรธานี แนวโน้มลดลง แม่น้ำนครนายก บริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก แนวโน้มทรงตัว แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณ อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี แนวโน้มลดลง แม่น้ำบางปะกง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา แนวโน้มทรงตัว ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำในแม่น้ำป่าสัก บริเวณ อ.ขัยบาดาล จ.ลพบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่เนื่องจากแม่น้ำป่าสักยังคงมีระดับสูงกว่าตลิ่ง ส่วนที่แม่น้ำโขงไม่มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังจังหวัดริมแม่น้ำโขง เนื่องจากยังคงมีฝนตกในพื้นที่ และมีปริมาณน้ำจากสถานีจิงหง ประเทศจีนเพิ่มขึ้น.