6 เขื่อนเฝ้าระวังน้ำเริ่มลด “วชิราลงกรณ-ศรีนครินทร์”ปรับแผนระบายน้ำเพิ่ม

  •  
  •  
  •  
  •  

ปริมาณน้ำใน 6 เขื่อนขนาดใหญ่เริ่มลดลง ศูนย์เฉพาะกิจฯ ย้ำจัดจราจรน้ำป้องกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ หลังหลายเขื่อนเริ่มปรับแผนการระบายเพิ่ม เขื่อนวชิราลงกรณเตรียมเพิ่มการระบายน้ำเพิ่มวันละ 5 ล้านลบ.ม. 4 ก.ย. ด้านเขื่อนศรีนครินทร์เพิ่มการระบายวันละ 6 ล้าน ลบ.ม.ตั้งแต่ 7 ก.ย.นี้

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ ประจำวันที่ 31 ส.ค.61 ว่า สถานการณ์ฝนช่วงนี้ยังพบว่ามีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 17 จังหวัด ทางภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด โดย 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน 35.5 มม. อุตรดิตถ์ 35.0 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี 55.8 มม. เลย 45.0 มม. อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์แนวโน้มฝนในช่วงระหว่างวันที่ 1 – 5 ก.ย.นี้ปริมาณฝนตอนบนของประเทศมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น

โดยจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมและลดผลกระทบจากปริมาณน้ำไหลเอ้อท่วมตลิ่งทั้งจากการระบายน้ำจากเขื่อน และฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ ขณะนี้มีน้ำสูงกว่าตลิ่งในแม่น้ำป่าสัก บริเวณ อ.เมือง อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณ ตลาดเก่า อ.กบินทร์บุรี อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร อ.เซกา จ.บึงกาฬ ห้วยหลวง จ.อุดรธานี และแม่น้ำโขง บริเวณ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี แม่น้ำนครนายก บริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก คลองพระปรง จ. สระแก้ว

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ 6 แห่ง ปัจจุบันพบว่ามีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ลดลง ซึ่งเขื่อนต่างๆ ได้เริ่มพร่องน้ำเพิ่มขึ้น โดยได้มีการแจ้งเตือนพื้นที่ท้ายน้ำที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบล่วงหน้า ได้แก่ 1. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 571 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 110% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.98 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 1.88 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำไหลออก 8.69 ล้าน ลบ.ม.โดยเริ่มลดการระบายน้ำ เนื่องจากปริมาณฝนในเดือน ก.ย.-ด.ค. 61 ลดลง อย่างไรก็ตาม จะมีการติดตามการคาดการณ์ฝน เพื่อการปรับแผนให้เหมาะสม 2. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 756 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 106% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.02 ม. ลดลง 4 ซม. ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 13.48 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.45 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหล 15.31 ล้าน ลบ.ม. โดยขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีต่ำกว่าระดับตลิ่ง จึงต้องเร่งระบายน้ำจากเขื่อนเก่งกระจานให้กลับสู่ภาวะปกติ โดยที่เขื่อนเพชรจะเพิ่มการระบายเป็น 11.23 ล้าน ลบ.ม./วัน

[adrotate banner=”3″]

3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 8,329 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 94% ปริมาณน้ำไหลเข้า 86.91 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 7.4 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 52.31 ล้าน ลบ.ม.พื้นที่ท้ายน้ำ ยังไม่สูงกว่าตลิ่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่ 4-10 ก.ย.61 จะปรับเพิ่มการระบายน้ำในเขื่อนฯเพิ่มขึ้นวันละ 5 ล้าน ลบ.ม.จากเดิมวันละ 53 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 58 ล้าน ลบ.ม. โดยปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นยังไม่เกิดความจุของลำน้ำแควน้อย แต่อาจมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางแห่งได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 50 ซม. โดยหน่วยงานในพื้นที่ได้มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำล่วงหน้าด้วย

4. เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 16,061 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91% ปริมาณน้ำไหลเข้า 56.52 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 4.75 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำไหลออก 20.13 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะมีการบริหารจัดการน้ำโดยปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนท่าทุ่งนาขึ้นวันละ 6 ล้าน ลบ.ม. จากเดิมวันละ 22 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ 7-13 ก.ย. 61 ที่จะระบายหลังจากเขื่อนวชิราลงกรณเพิ่มการระบายน้ำแล้ว 3 วัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นยังไม่เกินความจุของลำน้ำแควใหญ่ บริเวณบ้านหนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี แต่อาจมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางแห่งได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 60 ซม.

5. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 193 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.20 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.53 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 7.88 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 0.84 ม. ลดลง 24 ซม. และ 6. เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 315 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81% ปริมาณน้ำไหลเข้า 7.64 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 2.06 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 11.08 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 681 ลบ.ม./วินาที และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 700-800 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ถึงบริเวณ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ จะควบคุมปริมาณการไหลของน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 800 ลบ.ม./วินาที ซึ่งคาดว่าจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 30-50 ซม. ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตามการคาดการณ์ฝนอย่างใกล้ชิดเพื่อการปรับแผนให้เหมาะสม และแจ้งประชาชนให้ทราบล่วงหน้า