ฝนถล่มหนัก 24 จังหวัด..เร่งพร่องน้ำ 4 เขื่อนใหญ่

  •  
  •  
  •  
  •  

                                             ภาพจาก : bangkokbiznews.com

ศูนย์เฉพาะกิจฯ สั่งเฝ้าระวัง  24 จังหวัด ฝนถล่มหนัก ขณะที่ตัวเลขน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำยังสูงต่อเนื่อง จากธิพล “เบบินคา” ย้ำหน่วยเกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะพื้นทื่ภาคเหนือที่พบสัญญาณฝนตกหนัก

นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญวันที่ 18 ส.ค.2561 ว่า เมื่อเวลา 04.00น.พายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) บริเวณประเทศลาวตอนบน ได้เคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่

ในวันนี้ (18 ส.ค. 61) ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะ 24 จังหวัด ที่ต้องเฝ้าระวัง ภาคเหนือ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย ชัยภูมิ ภาคตะวันตก ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต  โดยปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ ได้แก่ ปริมาณฝนที่น่าน 414 มม. พะเยา 192.5 มม. เชียงราย 114.5 มม. ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จากระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 4 แห่ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 751 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 106% ปริมาณน้ำไหลเข้า 32.15 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อวาน 27.29 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายออก 22.39 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 91 ซม. สูงกว่าเมื่อวาน 29 ซม. แนวโน้มปริมาณน้ำยังคงไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้น โดยระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 40 ซม. จากเมื่อวาน 76 ซม.

                                 ภาพจาก : http://www.deepsnews.com/contents/11879

2.เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 531 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อวาน 532 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102% ปริมาณน้ำไหลเข้า 4.41 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 5.27 ล้าน ลบ.ม. พบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

3.เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 7,878 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อวาน 7,860 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 89% ปริมาณน้ำไหลเข้า 103.70 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 41.19 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันยังไม่พบพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ ทั้งนี้ ในวันที่ 23-27 ส.ค. 61 จะปรับการระบายน้ำเป็นวันละ 53 ล้าน ลบ.ม. จากเดิม 43 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเร่งพร่องน้ำรองรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนที่เพิ่มขึ้น โดยประสานแจ้งจังหวัด และพื้นที่ให้ทราบ

4. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อวาน 193 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86% ปริมาณน้ำไหลเข้า 96 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 2.89 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 49 ซม. จากเมื่อวาน 30 ซม.

[adrotate banner=”3″]

ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่/กลางที่มีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีจำนวน 2 แห่ง คือ 1.เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ 4,884 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ปริมาณน้ำไหลเข้า 23.60 ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 19.81 ล้าน ลบ.ม.  ปัจจุบันได้เร่งพร่องน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ โดยปรับแผนการระบายน้ำเป็นวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันนี้ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน  2. อ่างเก็บน้ำคิรีธาร จ.จันทบุรี ปริมาณน้ำ 75 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 99% ปริมาณน้ำที่ระบาย 0.66 ล้าน ลบ.ม.

“จากการการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ พบว่า ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มี 50,604 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มี 2,989 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 รับน้ำได้อีก 22,467 ล้าน ลบ. ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ตั้งแต่ 14 ก.ค. – 17 ส.ค. 61 มีน้ำไหลเข้าอ่างฯขนาดใหญ่ รวมทั้งประเทศ 13,597 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น ภาคเหนือ 3,960 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,897 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 336 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 5,075 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 337 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 1,992 ล้าน ลบ.ม.”นายสำเริง กล่าว