ภาพจาก : http://www.deepsnews.com/contents/11879
พิษพายุโซนร้อน“เบบินคา” ทำให้ฝนฟ้าถล่มหนักเกิน 100 มม. ล่าสุดศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สั่งต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษยัง 4 เขื่อนใหญ่ “เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี-เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร-เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี-เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก”ระดับน้ำจ่อล้น คาดฝนจะตกหนักถึง18 ส.ค. 61 อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่มได้
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ ประจำวันที่ 17 ส.ค.61 ณ เวลา 07.00 น.ว่า ตามที่พายุโซนร้อน “เบบินคา”(BEBINCA) ซึ่งคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในวันนี้ หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาว ในวันที่ 18 ส.ค. 61 ส่งผลให้ประเทศไทยช่วงวันที่ 17-18 ส.ค. 61 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่มได้ โดยปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เกิดฝนตกปานกลางถึงหนักใน ภาคเหนือ สูงสุดที่ จ.น่าน ถึง 188 มม.
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษยังคงมี 4 แห่ง ซึ่งเป็นอ่างฯขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ ได้แก่ 1. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 741 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้น จากเมื่อวาน 739 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 104% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 27.29 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายออกวันละ 19.82 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 68 ซม. สูงกว่าเมื่อวาน 3 ซม. ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.73 ม. ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำบางจุดในบริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
[adrotate banner=”3″]
ทั้งนี้ ศูนย์เฉพาะกิจฯ ได้ออกประกาศฉบับที่ 6/2561 (16 ส.ค.61) ให้เร่งดำเนินการพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นโดยให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุดและประสานจังหวัดเพื่อแจ้งเตือนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้วย 2. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 532 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 4.45 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 5.32 ล้าน ลบ.ม. โดยพื้นที่ท้ายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร รวมถึงให้หน่วยงานในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำใน จ.สกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ไหลผ่าน 3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 7,817 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 88% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 100.02 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 41.40 ล้าน ลบ.ม. 4. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 193 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 6.70 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 3.87 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 30 ซม.
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่/กลางที่มีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีจำนวน 2 แห่ง คือ 1. เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี ปริมาณน้ำ 4,880 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 17.58 ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 20.47 ล้าน ลบ.ม. 2. อ่างเก็บน้ำคิรีธาร จ.จันทบุรี ปริมาณน้ำ 75 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 99% ปริมาณน้ำที่ระบาย 0.66 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตามทางศูนย์ฯ ได้ประสานแจ้งให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดเตรียมแผนรองรับและแจ้งเตือนเฝ้าระวังใน 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากปริมาณน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม และลำน้ำอูน แม่น้ำนครนายก ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีน้ำมากและอาจเกิดฝนตกในพื้นที่ 2. พื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลากที่ อ.ปัว และ อ.สันติสุข จ.น่าน เนื่องจาก 24 ชม. ที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก และ 3.พื้นที่เฝ้าระวังจากการเร่งระบายน้ำ โดยเฉพาะอ่างฯขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนขุนด่านปราการชล และเขื่อนน้ำอูน รวมถึงอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนที่มีน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) ซึ่งคาดว่าระดับน้ำจะขึ้นต่อเนื่องไปอีก 3-4 วัน ตามปริมาณฝนที่ตกลงมาเพิ่มขึ้น