ภาพจาก : bangkokbiznews.com
พายุโซนร้อน “เบบินคา”ลดระดับเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำ จ่อกระหน่ำพื้นที่ 35 จังหวัด ช่วงวันที่ 16–18 สิงหาคม 2561.นี้ ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤตชี้เฝ้าระวัง เผย 6 เขื่อนต้องระวังอย่างใกล้ชิด มีปริมาณน้ำมากและปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยถึงการคาดการสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ ประจำวันพฤหัสบดีที่ 16 ส.ค.61 ณ เวลา 07.00 น.ว่า พรุ่งนี้ (17 ส.ค. 61) พายุโซนร้อน “เบบินคา”คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน
หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวในวันที่ 18 ส.ค.61 ลักษณะเช่นนี้ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบตามภาคต่างๆ ในช่วงวันที่ 16-18 ส.ค. 61 โดยเฉพาะ 35 จังหวัด ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่
ภาคเหนือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์มุกดาหาร ภาคตะวันตก เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต
[adrotate banner=”3″]
ดังนั้น จากการคาดการณ์สภาพอากาศและปริมาณฝนที่จะตกเพิ่มขึ้น และส่งผลให้น้ำไหลลงอ่างต่างๆ มากขึ้นด้วยนั้น ทางศูนย์ฯ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพร่องน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากอิทธิพลของฝนที่ตกเหนือเขื่อนโดยประสานจังหวัด และหน่วยงานระดับพื้นที่เร่งแจ้งเตือนและการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงการติดตามสถานการณ์ด้านท้ายน้ำ และปรับแผนการระบายให้มีผลกระทบด้านท้ายน้ำน้อยที่สุด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มีจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1). เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 732 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อวาน 729 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 49 ซม. สูงกว่าเมื่อวาน 6 ซม. แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้น ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ให้เต็มศักยภาพลำน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน 2). เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 533 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103% ปริมาณน้ำไหลเข้าแนวโน้มลดลง ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 3). เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 7,759 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 88% ขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ 4). เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 189 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84%
ส่วนอีกกลุ่มที่เฝ้าระวัง คือ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีจำนวน 2 แห่ง คือ 1). เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี ปัจจุบันได้มีการปรับแผนการระบายน้ำจากเดิม 20 ล้าน ลบ.ม ให้มากขึ้นเต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนโดยประสานจังหวัด และพื้นที่ 2. อ่างเก็บน้ำคิรีธาร จ.จันทบุรี ติดตั้งกาลักน้ำจำนวน 30 ชุด และขอเพิ่มจำนวนกาลักน้ำเพื่อเร่งระบายเพิ่มขึ้น