“กฤษฎา” ตามนายกฯลงพื้นที่ ติดตามสถานการณ์น้ำใน จ.เพชรบุรี ชี้วันที่ 12 สิงหาคม 2561 มวลน้ำจะไหลผ่านลงสู่เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีมากทำสุด อาจส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งในบางชุมชน และอีก 5 อำเภอเสี่ยง
เมื่อวันที่ 8 สงหาคม 2561 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังติดตามคณะของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ณ พื้นที่บริเวณเขื่อนเพชร และจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ว่า ปัจจุบันเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำ 730 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103% โดยกรมชลประทานได้ติดตั้งท่อระบายน้ำที่เรียกว่ากาลักน้ำ 15 ชุด เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากอ่างฯ ขณะนี้ มีน้ำล้นออกทางระบายน้ำล้น (spillway) สูง 45 เซนติเมตร (ไม่ใช่สันเขื่อน)ทำให้มีปริมาณน้ำไหลออกท้ายเขื่อนแก่งกระจานรวม 15.30 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวไหลผ่าน อ.แก่งกระจาน และ อ.ท่ายางจนถึงเขื่อนเพชร ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 1.08 – 2.20 ม.
คาดการณ์ว่าในวันที่ 10 ส.ค.61 ระดับน้ำที่ล้นทางระบายน้ำล้น (Spill way)จะสูงสุดประมาณ 65 เซนติเมตร อัตราการไหลประมาณ 106 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่ระบายผ่านอาคารชลประทาน จะทำให้มีน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนแก่งกระจานรวม 224 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว ยังไม่เกินความจุของแม่น้ำเพชรบุรีจะรับได้ แต่อาจจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งบางแห่ง ที่จะมีระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร และคาดว่าในวันที่ 11 ส.ค. 61 จะมีปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลมารวมกันบริเวณหน้าเขื่อนเพชรในเกณฑ์ 230 – 250 ลบ.ม./วินาที
อย่างไรก็ตามกรมชลประทานจะแก้ไขปัญหาน้ำดังกล่าวโดยทำการบริหารจัดการน้ำด้วยวิธีหน่วงน้ำหน้าเขื่อน และตัดน้ำเข้าคลองระบบชลประทานฝั่งซ้าย – ขวา ของแม่น้ำเพชรบุรีรวม 55 ลบ.ม./วินาที และผันเข้าคลองระบาย D9 ในอัตรา 35 ลบ.ม./วินาที รวมปริมาณน้ำที่ตัดเข้าระบบทั้งสิ้น 90 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านท้ายเขื่อนเพชรในอัตรา 140 – 160 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ในเขตอำเภอท่ายางและอำเภอบ้านลาด ก่อนปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลผ่านลงสู่เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ในวันที่ 12 ส.ค. 61 อาจส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งและพื้นที่ชุมชนบางแห่ง ระดับน้ำสูงเฉลี่ยประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการช่วยเหลือและเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่และชุมชน จำนวน 31 เครื่อง (สำรอง 5 เครื่อง) และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า จำนวน 38 เครื่อง (สำรอง 8 เครื่อง) นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จำนวน 20 ลำ ติดตั้งในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณวัดคุ้งตำหนัก อ.บ้านแหลม ช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมยานพาหนะและเครื่องจักรกลต่างๆ เช่น รถบรรทุก รถขุดตัก จำนวน 20 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำอีกด้วย
[adrotate banner=”3″]
ขณะที่ กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการบรรเทาสาธารณภัยแก่เกษตรกรและประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ลุ่มต่ำด้านเกษตรไว้แล้ว โดยประเมินพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย 1. ด้านพืช 5 อำเภอ 461 ครัวเรือน พื้นที่ 4,681 ไร่ 2. ด้านประมง 5 อำเภอ 587 ราย พื้นที่ 9,822 ไร่ และ 3. ด้านปศุสัตว์ 4 อำเภอ 2,948 ราย สัตว์ 151,769
ล่าสุดทางจังหวัดเพชรบุรีได้ประกาศเขตความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) แล้ว 2 อำเภอ 5 ตำบล 27 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อำเภอท่ายาง 2 ตำบล 17 หมู่บ้าน และ อำเภอแก่งกระจาน 3 ตำบล 10 หมู่บ้าน โดยหากพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ดังกล่าว จะดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ซึ่งหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกร จะต้องเป็นเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ ไว้ก่อนเกิดภัยจึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเกษตรกรได้ไปแจ้งเกษตรอำเภอหรือเกษตรตำบลที่อยู่ใกล้บ้านตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปด้วย.