“บิ๊กฉัตร” ลงพื้นที่เร่งขยายผลศาสตร์พระราชา “โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร”มั่นใจแล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2565 เผยจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะในพระนครศรีอยุธยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเดินทางมาติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในครั้งนี้ เนื่องจาก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางเร่งรัดโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญให้เป็นไปตามมติ กนช. ที่ต้องการขับเคลื่อนโครงการสำคัญให้ได้จนถึงขั้นตอนการก่อสร้าง โดยที่ประชุมมีมติให้โครงการคลองระบายน้ำ บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 9 โครงการที่รัฐบาลจะเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในปี 2562 นี้
จากการรับฟังรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ขณะนี้การดำเนินงานในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยในด้านการมีส่วนของประชาชนได้มีการจัดปฐมนิเทศโครงการเพื่อเผยแพร่ข้อมูล และจัดประชุมกลุ่มย่อย ชี้แจงรายละเอียดของโครงการ และรับฟังความคิดเห็นไปแล้วจำนวน 5 ครั้ง ในด้านการสำรวจออกแบบดำเนินแล้วเสร็จแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติแบบ ส่วนการจัดหาที่ดินได้มีการสำรวจปักหลักเขตชลประทานและแจ้งเจ้าของที่ดินเพื่อให้มายื่นคำขอรังวัดที่ดิน พร้อมทั้งได้เจรจาทำความตกลงซื้อขายกับเจ้าของที่ดิน โดยได้ดำเนินการเบิกจ่ายค่าที่ดินและค่ารือย้ายชุดแรกแล้ว จำนวน 15 แปลง ให้กับประชาชน 13 ราย รวมเป็นพื้นที่กว่า 30 ไร่ เป็นเงินจำนวน 20.82 ล้านบาท ในส่วนของการดำเนินการก่อสร้างโครงการ จะเริ่มดำเนินการในปี 2562 และแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างประตูระบายน้ำปากคลองบางบาล และประตูระบายน้ำปากคลองบางหลวง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ได้นำศาสตร์พระราชามาขยายผลแก้ไขปัญหาน้ำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย พร้อมยังได้น้อมนำหลักการทรงงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่อง การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด โดยการบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ด้วย
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมี 9 แผนงาน ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการแล้ว โดยมีโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เป็น 1 ใน 9 แผนงานนั้น โดยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กรมชลประทานดำเนินการ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนการสำรวจ-ออกแบบรายละเอียด และชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ และดำเนินการในกระบวนการจัดหาที่ดินเพื่อการก่อสร้าง ตลอดจนงานเตรียมความพร้อมเพื่อการก่อสร้าง นอกจากนี้ กนช.ยังได้มอบหมายให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการดำเนินงานให้สามารถขับเคลื่อนโครงการได้ตามแผนงานที่ได้วางไว้
สำหรับโครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จะได้เสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเปิดโครงการในเร็ว ๆ นี้ โดยการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันได้ใช้ศักยภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาสามารถระบายน้ำสูงสุดปริมาณ 2,800 ลบ.ม./วินาที ที่คันกั้นน้ำ แต่ก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังชุมชนที่อยู่นอกคันกันน้ำสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยารวม 14 แห่ง โดยเฉพาะ อำเภอเสนา และอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่หากมีการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพียง 700 ลบ.ม./วินาที ก็จะเกิดน้ำท่วมชุมชนนอกคันกั้นน้ำคลองโผงเผง คลองบางบาล และแม่น้ำน้อย
อีกทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านตัวเมือง พระนครศรีอยุธยา มีลักษณะเป็นคอขวดลำน้ำแคบมาก สามารถรับน้ำได้เพียง 1,200 ลบ.ม /วินาที ซึ่งเมื่อโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นการเพิ่มความสามารถระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้อีกประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที ทำให้สามารถแก้ปัญหาคอขวดของแม่น้ำเจ้าพระยา และสามารถระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้ 2,000 ลบ.ม./วินาที โดยไม่มีชุมชนนอกคันกั้นน้ำได้รับผลกระทบ จะเห็นได้ว่าโครงการนี้เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปี อย่างไรก็ตามหากต้องระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเต็มศักยภาพปริมาณ 2,800 ลบ.ม./วินาที ก็ต้องดำเนินการช่วยเหลือและป้องกันน้ำท่วมชุมชนนอกคันกั้นน้ำดังกล่าวด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ได้บรรจุอยู่ใน 9 แผนบรรเทาอุทกเจ้าพระยาตอนล่างแล้ว
คลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร เริ่มต้นโครงการที่ ต.บ้านใหม่ อ.บางบาล ตัดตรงผ่านทุ่งบางบาลถึง ต.สนามชัย อ.บางไทร เป็นจุดที่เหมาะสมที่สุด สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ไม่กระทบชุมชนขนาดใหญ่ และพื้นที่ศูนย์รวม เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล โดยจะมีแนวกันเขตก่อสร้างกว้าง 200 เมตรในพื้นที่ทั่วไป และกว้าง 110 เมตรในพื้นที่ชุมขน คลองยาว 22.50 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการช่วยย่นระยะทางการระบายน้ำได้ถึง 12.5 กิโลเมตร จากเดิม 35 กิโลเมตร
[adrotate banner=”3″]
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำให้เชื่อมโยงกันเป็นระบบ กรมชลประทานก่อสร้างประตูระบายน้ำ(ปตร.) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ปตร.ปลายคลองระบายน้ำหลากฯ ปตร.ปากคลองบางหลวง และ ปตร.ปากคลองบางบาล พร้อมทั้งอาคารจ่ายน้ำและสถานีสูบน้ำข้างคลองระบายน้ำหลากฯ จำนวน 36 แห่ง สะพานรถยนต์ข้ามคลองระบายน้ำหลากฯ จำนวน 11 แห่ง ทำกำแพงป้องกันตลิ่งบริเวณท้ายประตูระบายน้ำปลายคลองระบายน้ำหลากฯ และคันกันน้ำโดยรอบพื้นที่โครงการพร้อมอาคารประกอบ มีความยาวประมาณ 54 กิโลเมตร
ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนอกจากจะช่วยบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้ประมาณ400,000-800,000ไร่ และลดการท่วมซ้ำซากของพื้นที่เกษตรกรรมในอ.บางบาล และอ.เสนาแล้ว คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรยังสามารถเก็บน้ำไว้สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 48 ตำบล 3 เทศบาล 362หมู่บ้าน พร้อมทั้งยังจะมีการก่อสร้างถนนสัญจรสองฝั่งคลองเเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการสัญจร และอาจจะมีการพิจารณาออกแบบถนนให้มีทางจักรยาน ปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม สำหรับออกกำลังกายและพักผ่อน รวมทั้งยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอีกด้วย