สทนช.บูรณาการพัฒนาทรัพยากรน้ำ กลุ่ม 4 จังหวัด “ราชธานีเจริญศรีโสธร” ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2561-2565 จำนวน 538 โครงการ ชี้เกษตรกรจะได้ประโยชน์ในพื้นที่กว่า 4 หมื่นไร่ ระบุเฉพาะปี 2562 มีจํานวน 224 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 2,600 ล้านบาท ประชาชนจะได้รับประโยชน์กว่า 7,500 ครัวเรือน พร้อมให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้อย่างใกลชิด
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาและจัดการน้ำ ภายหลังการติดตามนายกรัฐมนตรีและคณะตรวจราชการจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 5/2561 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2561 ว่า รัฐบาลได้วางแผนงานที่จะพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 4 จังหวัดกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 หรือกลุ่มจังหวัด “ราชธานีเจริญศรีโสธร” ประกอบด้วยจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอํานาจเจริญ
เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ และปัญหาน้ำท่วม ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2561-2565 จํานวน 538 โครงการ เมื่อดําเนินการแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มความจุเก็บกักรวม 38.93 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) พื้นที่รับ ประโยชน์ 40,035 ไร่ ประชาชนรับประโยชน์ 79,556 ครัวเรือน ซึ่งมีโครงการสำคัญ คือ โครงการจิตอาสาเพื่อการพัฒนาลําน้ําบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียงเพื่อประโยชน์ และความสุขของประชาชน ในจังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ด้วย
[adrotate banner=”3″]
อย่างไรก็ตาม มีโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำในปี 2562 จํานวน 224 โครงการ วงเงิน 2,637.59 ล้านบาท สามารถเพิ่มความจุเก็บกักรวมทั้งสิ้น 1.92 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 2,040 ไร่ ประชาชนรับประโยชน์ 7,501 ครัวเรือน
สำหรับโครงการสำคัญๆ ที่จะดำเนินการ เป็นโครงการของกรมชลประทาน เช่น โครงการประตูระบายน้ำลำเซบก จังหวัดอำนาจเจริญ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง จังหวัดศรีสะเกษ โครงการประตูระบายน้ำห้วยขุหลุ จังหวัดอุบลราชธานี โครงการประตูระบายน้ำลำชีหลง จังหวัดยโสธร โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยบอน จังหวัดอุบลราชธานี โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสังกด จังหวัดศรีสะเกษ โครงการประตูระบายน้ำห้วยที จังหวัดอุบลราชธานี โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยลำเซ จังหวัดยโสธร เป็นต้น ส่วนโครงการที่จะดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เช่น โครงการระบบป้องกันน้ำท่วม พื้นที่ชุมชนเมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 จังหวัดศรีสะเกษ โครงการระบบป้องกันน้ำท่วม พื้นที่ชุมชนกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น
เลขาธิการ สทนช.กล่าวถึงผลงานการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557-2560 ด้วยว่า ในพื้นที่ 4 จังหวัดดังกล่าว มีการพัฒนาโครงการขนาดเล็ก รวม 1,131 โครงการ เพิ่มความจุเก็บกักรวม 195.69 ล้าน ลบ.ม.มีพื้นที่รับประโยชน์ 673,177 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์ทั้งหมด 245,961 ครัวเรือน.