ฟื้น“บึงราชนก” เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สมบูรณ์ของชาติ

  •  
  •  
  •  
  •  

สทนช. เตรียมจัดทำแผนแม่บทฟื้นฟู “บึงราชนก” จ.พิษณุโลก พร้อมกำหนดแผนปฏิบัติการให้หน่วยเกี่ยวข้องขับเคลื่อน หวังฟื้นสภาพบึงให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สมบูรณ์ของประเทศ หลังจากที่ปล่อยปะละเลยมายาวนาน ตั้งเป้าได้แผนบริหารจัดการอย่างครอบคลุมทุกมิติภายในเดือนกันยายน 2561นี้

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก เพื่อชี้แจงกรอบแนวคิดและรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพปัญหาและรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์จากพื้นที่จริง ก่อนเดินทางไปยังสถานีเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาล ระบบเติมน้ำผ่านสระ ที่บ้านเสวยซุง หมู่ที่ 7 ต.บึงกอก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และติดตามการเตรียมความพร้อมสำหรับการรับน้ำเข้าทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่ทุ่งบางระกำ ต.แม่ระหัน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำประจำปี 2561  ณ บึงราชนก จ.พิษณุโลก ว่า บึงราชนก มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 4,865 ไร่ 2 งาน 85 ตารางวา ตั้งอยู่ในเขต ต.สมอแข อ.เมือง และต.วังพิกุล ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก จัดเป็นพื้นที่ที่เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำที่มีความหลากหลาย และมีความสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ

[adrotate banner=”3″]

อย่างไรก็ตามงที่ผ่านมามีประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของบึงราชนกจำนวนมาก ทั้งเพื่อทำการเกษตร ปศุสัตว์ รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันส่วนราชการที่มาขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ก็มีการปล่อยปละละเลยขาดการดูแลพื้นที่อย่างเป็นเอกภาพ มีการใช้งบประมาณจำนวนมากในพื้นที่แต่ไม่มีการบูรณาการให้เกิดประโยชน์หลักในการเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำ

จากปัญหาดังกล่าวรัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ สทนช. เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำแผนพัฒนาและฟื้นฟูบึงราชนก โดยวิเคราะห์สภาพปัญหาของบึงราชนกในด้านทรัพยากรน้ำ มลพิษ ระบบนิเวศ การใช้ประโยชน์ และอื่นๆที่มีผลกระทบต่อการพัฒนา พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมาย แนวทาง และจัดทำแผนพัฒนาที่ครอบคลุมตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืน ตลอดจนจัดทำแผนปฏิบัติการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการได้อย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ

ขั้นแรก สทนช. จะทำการสำรวจและเก็บข้อมูลต่างๆ อาทิ สภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า ปริมาณตะกอน ทรัพยากรดิน ระบบนิเวศทางน้ำและบนบก การใช้ประโยชน์พื้นที่ สภาพเศรษฐกิจและสังคม การท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดที่จำเป็นต่อการปรับปรุงและฟื้นฟู รวมถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ เพื่อนำมาผนวกกับการวิเคราะห์ระบบบริหารจัดการน้ำ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้แผนแม่บทที่สามารถฟื้นฟูพัฒนาบึงราชนกได้อย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแผนดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

“ในแผนแม่บทฯ อย่างน้อยจะต้องมีรายละเอียดที่ครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก คือ 1. การบริหารจัดการพื้นที่ การใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างเหมาะสม รวมถึงขั้นตอนดำเนินงาน 2.การอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนา การปรับปรุงคุณภาพน้ำและระบบนิเวศวิทยาทางน้ำ 3. การจัดองค์กรเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ 4.การติดตามประเมินผลและการตรวจสอบการดำเนินการตามแผน ซึ่งรายละเอียดแผนงานทั้งหมด  ซึ่งสทนช.จะดำเนินการโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การฟื้นฟูบึงราชนกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำได้เต็มศักยภาพ รวมถึงสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืนด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว