ชง3เรื่องให้แก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ฝากขายที่ดินหวันเกษตรสูญที่ทำกิน

  •  
  •  
  •  
  •  

สภาเกษตรกรฯดัน 3 ประเด็น  ให้แก้ไข ร่าง “พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ…..” ระบุเนื้อหายังเอื้อต่อผู้ซื้อฝาก ชี้หากผ่าน ปัญหาหนี้นอกระบบ การทวงหนี้รูปแบบต่างๆ การสูญเสียที่ดินทำกิน ยืนยันต้องมีการยกร่าง ปรับปรุง/แก้ไข และรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนเสนอครม.

              ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ได้เข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็น ร่าง “พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ…..” ที่โรงแรมเดอะเบอร์เคลี่ย์โฮต็ล ประตูน้ำ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ได้ถูกแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี

             คณะกรรมการฯพิจารณาเห็นว่ากฎหมายขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับปัจจุบันพบว่า ประชาชนโดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาขายฝากและเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียที่ดินทำกินอันเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ

             ดังนั้นคณะกรรมการฯได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำ “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ…..” โดยมีเจตนารมณ์ในการกำหนดมาตรการและกลไกพิเศษเพื่อคุ้มครองประชาชนจากสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยที่ไม่เป็นธรรม ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติเห็นว่า

[adrotate banner=”3″]

             ส่วนสาระของร่างกฎหมายน้ำหนักจะไปอยู่ที่“ผู้ซื้อฝาก”จึงได้เสนอความเห็นใน 3 ประเด็น คือ การกำหนดระยะเวลาในการขายฝาก ควรมีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี , ห้ามขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยที่อยู่ในที่ดินประกอบอาชีพเกษตรกรรม ,และในกรณีที่หลุดสัญญาการขายฝากไปแล้วสามารถให้“ผู้ขายฝาก”มีสิทธิ์ซื้อคืนได้ และควรกำหนดระยะซื้อคืนภายใน 1-3 ปี ในราคาเดิมบวกดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนด โดยประเด็นดังกล่าว

           อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสภาเกษตรกรฯได้เคยเสนอไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว ต่อมาก็ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้หลายครั้งและเชิญทางสภาเกษตรกรฯไปชี้แจงล่าสุดคือครั้งนี้ เพราะร่าง พ.ร.บ.นี้มีน้ำหนัก การคุ้มครองไปทางผู้ซื้อฝากมากกว่าหรือขั้นตอนการตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐยุ่งยากและเอื้อต่อผู้ซื้อฝาก เมื่อเกษตรกรมีความจำเป็นก็จะทำให้เกิดกรณีการหลีกเลี่ยงสัญญาซื้อขายฝากเป็นการซื้อขายสิทธิ์เด็ดขาดแทน

           ดังนั้นปัญหาจะเกิดตามมาคือหนี้นอกระบบที่มีการทวงหนี้รูปแบบต่างๆ การสูญเสียที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัยเกษตรกรก็จะเกิดความเดือดร้อนแน่นอน ฉะนั้นต้องมีการยกร่าง ปรับปรุง/แก้ไขและรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป