ชี้แผนแม่บทฟื้นฟูบึงบรเพ็ดครั้งใหญ่เสร็จ ก.ย.นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

เลขาธิการ สทนช.นำคณะ ขึ้น ฮ. บินสำรวจสภาพบึงบอระเพ็ด แม่น้ำพิจิตร พบจะๆปัญหาผักตบชวาเต็มบึงทำตื้นเขิน และกีดขวางทางน้ำ ทำให้พื้นที่เดิมมีถึง 132,737 ไร่ เหลือพื้นที่เพียง 67,327 ไร่ มั่นใจแผนแม่บทที่จะแก้ไขปัญหาในทุกๆด้านที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 นี้แน่นอน

วันที่ 27 มิ.ย. 61 นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ไปเป็นประธานพิธีเปิดการปฐมนิเทศโครงการศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด ณ อาคารเอนกประสงค์ บึงบอระเพ็ด ตำบลแควใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมลงพื้นที่ติดตามแผนบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการบุกรุก การใช้ประโยชน์เป็นที่ดินทำกิน และการเพิ่มพื้นที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำของบึงบอระเพ็ด ตามประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ที่ได้สั่งการมา ให้รีบแก้ปัญหาและพื้นฟูบึงบอระเพ็ด

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้ สทนช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรเร่งดำเนินโครงการศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดที่ครอบคลุมตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยบูรณาการกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งแผนการทำงานเป็นรายปีและหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาของบึงบอระเพ็ดในด้านทรัพยากรน้ำ มลพิษ ระบบนิเวศ และการใช้ประโยชน์ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาบึงบอระเพ็ด   พร้อมกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาที่เหมาะสม  และวางกรอบแนวทางในการพัฒนาและการฟื้นฟูที่มีความเหมาะสมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้นำผลการศึกษาไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาบึงบอระเพ็ดในแนวทางเดียวกัน สอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ที่สำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันในด้านผลประโยชน์ในพื้นที่บึงบอระเพ็ด ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและฟื้นฟูบึงเป็นอย่างมาก จึงจะต้องมีคนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับและไว้ใจ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในบึง ให้เข้ามาทำหน้าที่ประสานงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มต่างๆ เพื่อลดความขัดแย้ง และร่วมกันแสวงหาทางออกจากปัญหาอย่างเหมาะสม ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในกันยายนนี้อย่างแน่นอน

“โครงการศึกษาฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด เป็นรูปแบบในการจัดทําแผนแบบบูรณาการสหวิทยาการเชิงยุทธศาสตร์อย่างมีส่วนร่วม  โดยจะมีการศึกษาทบทวน วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลก่อนจัดทำเป็นแผนแม่บทการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด ที่นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ให้ดีขึ้น  ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว จะต้องใช้ประโยชน์จากบึงบอระเพ็ดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม  โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถนำแผนแม่บทไปดําเนินการตามภาระหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ภายใต้การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของภาคประชาชนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม  ทั้งนี้ หากบึงบอระเพ็ดมีการพัฒนาในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว จะสามารถตอบโจทย์การบริหารจัดการน้ำตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างครบถ้วน ดังนั้น การจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดจึงมีความจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาบึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยแห่งนี้ให้อยู่คู่ชาวจังหวัดนครสวรรค์ตลอดไป” นายสมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น สทนช.จะเร่งบูรณาการแผนงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาพื้นที่บึงบอระเพ็ดในระยะเร่งด่วนคู่ขนานไปด้วย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง เนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำถึง 127 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมมีพื้นที่ 132,737 ไร่ ปัจจุบันเหลือพื้นที่ 67,327 ไร่ ความจุ 180  ล้าน ลบ.ม. ที่ระดับเก็บกักสูง + 24 ม.รทก. ส่วนใหญ่เพื่อการเกษตร มีราษฎรบุกรุกพื้นที่ เข้าไปใช้ประโยชน์รวม 5,635 แปลง มีตะกอนสะสมปีละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้บึงตื้นเขิน

ทำให้กรมชลประทาน ได้ดำเนินการขุดลอกตะกอนดินแล้วเสร็จเมื่อปี 59 จำนวน 2.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในปี 60 อีก 3.3 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึงศึกษาแนวทางการยกระดับสันฝายจากระดับ +24 ม.รทก.อีก 1 เมตร ซึ่งสามารถเพิ่มความจุได้กว่า 300 ล้านลบ.ม. เพื่อให้บึงบอระเพ็ดมีศักยภาพส่งน้ำให้เป็นบึงอเนกประสงค์ที่สามารถบริหารจัดการรับน้ำหลาก และส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรได้

ขณะเดียวกัน จะพิจารณากรอบแผนงานกิจกรรม/โครงการ ระยะกลาง-ยาวที่สำคัญ เช่น ปรับปรุงศักยภาพส่งน้ำคลองวังนา ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ขุดลอกดินตะกอนในพื้นที่บึงบอระเพ็ด ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียตามเส้นทางน้ำหลักที่ไหลลงสู่บึง 5 แห่ง ศึกษา สำรวจ ออกแบบ โครงการแก้ไขปัญหาตะกอนดินก่อนไหลลงสู่บึงบอระเพ็ด และฝายดักตะกอนรอบบึง รวมถึงก่อสร้างประตูน้ำยกระดับน้ำแม่น้ำน่านเข้าสู่บึงบอระเพ็ด เป็นต้น อีกด้วย

ในช่วงบ่ายวันเดียวกันเลขาธิการ สทนช.และคณะ ขึ้น ฮ. บินสำรวจสภาพบึงบอระเพ็ด แม่น้ำพิจิตร ซึ่งปัจจุบันพบปัญหาผักตบชวา ตื้นเขินและสิ่งกีดขวางทางน้ำ ก่อนเดินทางโดยรถยนต์ไปยังประตูระบายน้ำดงเศรษฐี จ.พิจิตร เพื่อหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหานำมาสู่การแก้ไขปัญหาแม่น้ำพิจิตรโดยเร่งด่วนด้วย