กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาชุดทดสอบตรวจไวรัสซิการู้ผลภายใน 15 นาที

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาวิธิการตรวจไวรัสซิกา โดยตรวจวัดปริมาณแอนติบอดี ด้วยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งต้องใช้ทักษะความชำนาญสูงจึงใช้สำหรับการตรวจยืนยันเป็นกรณีพิเศษ พร้อมพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจหาแอนติบอดี IgM และ IgG หรือการตรวจภูมิคุ้มกันที่จำเพาะ ต่อเชื้อไวรัสซิกา

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรคติดต่อมาสู่คนได้โดยการถูกยุงที่มีเชื้อกัด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรง อาการที่พบ เช่น มีผื่นไข้ ตาแดง ปวดข้อ นอกจากนี้ยังมีช่องทางติดเชื้อโดยการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกและทางเพศสัมพันธ์ มีหลักฐานความเกี่ยวข้อง ของไวรัสซิกากับภาวะทารกแรกเกิดมีศีรษะเล็กตั้งแต่กำเนิด และอาการระบบประสาทอักเสบ ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาตั้งแต่ปี 2559 และ 2560 จำนวน 1,114 รายและ 557 ราย ตามลำดับ สำหรับในปี 2561 (ข้อมูล ณ วันที่ 7 พ.ค.2561) พบผู้ติดเชื้อจำนวน 73 ราย ซึ่งปัจจุบันไวรัสซิกายังไม่มียารักษาโรคและวัคซีนป้องกันโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้มีการพัฒนาวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 เป็นการตรวจสารพันธุกรรม ด้วยวิธี Real time RT-PCR ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอให้ได้ครั้งละมากๆ ในเวลาอันรวดเร็ว โดยอ้างอิงวิธีของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (US-CDC) พร้อมทั้งพัฒนาการตรวจแอนติบอดีชนิด IgM และ IgG เพื่อตรวจทารกแรกเกิดและมารดา ซึ่งสามารถตอบสนองต่ออุบัติการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศ ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการมีความสำคัญ ต่อการควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายไปในวงกว้างได้

“ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 2 วิธี คือ 1.การตรวจสารพันธุกรรมไวรัสซิกา ในตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และน้ำลาย ด้วยวิธี Real-time RT-PCR สามารถรู้ผลได้ภายใน 8 ชั่วโมง 2.การตรวจแอนติบอดีชนิด IgM และ IgG ต่อไวรัสซิกา ในตัวอย่างซีรัม ด้วยวิธี ELISA หากพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา สถานพยาบาลทุกระดับสามารถส่งตัวอย่างมาที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถส่งตัวอย่างตรวจได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่ง ที่ตั้งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามวิธีป้องกันโรคติดเชื้อไข้ซิกาที่ดีที่สุดคือประชาชนต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในและนอกบ้านโดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายาป้องกันยุงกัด นอนกางมุ้ง และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาด ของโรค ทั้งนี้หากเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด แล้วมีอาการออกผื่น มีไข้ ตาแดง ปวดข้อปวดศีรษะ โดยอาการ จะปรากฏหลังผู้ป่วยได้รับเชื้อภายใน 3-12 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย” นายแพทย์สุขุมกล่าว

 

ที่มา  :  กรุงเทพธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/805725