“สทนช.”ร่วมถกสภาน้ำเอเชี ย้ำไทยน้อมนำแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาน้ำยั่งยืน หวังชูบทบาทไทยเป็นผู้นำด้านน้ำในอาเซียนและยกระดับสู่เอเชีย ด้านสภาน้ำเอเชียเคาะ 3 โครงการหลักเชื่อมความร่วมมือสมาชิกแก้ปัญหาน้ำในภูมิภาค
วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้รับมอบหมายจากพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทน ในฐานะประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการด้านน้ำของภูมิภาคเอเชีย เรื่อง วิสัยทัศน์และทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของเอเชีย ณ ห้องกมลทิพย์ 3 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ในการประชุมกรรมการบริหารสภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 26 พฤษภาคม 2561 โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันการศึกษา องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ศูนย์เตรียมความพร้อมภัยพิบัติแห่งเอเชีย และสถาบันการศึกษาวิจัยระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
นายสมเกียรติ กล่าว่า นอกจากไทยเป็นสมาชิกสภาน้ำโลก องค์การสหประชาชาติแล้ว ไทยยังร่วมเป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย ( AWC ) ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายด้านน้ำระดับโลก ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับความท้าทายด้านน้ำในภูมิภาคเอเชีย และเป็นองค์กรหลักที่สนับสนุนการจัดประชุมสัปดาห์น้ำสากลแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการเกี่ยวกับน้ำระหว่างเครือข่ายด้านน้ำ ปัจจุบันมีสมาชิก 130 องค์กร และมีคณะกรรมการในสภาน้ำแห่งเอเชียจำนวน 26 คน โดยในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมสภาน้ำแห่งเอเชียยังเห็นชอบร่วมกันในการขับเคลื่อน 3 โครงการหลักภายใต้แผนพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อจัดการความเสี่ยงภัยทางด้านน้ำ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่ภาคเอเชียประสบอยู่ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และมลพิษทางน้ำเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกในเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ และผู้นำรัฐบาลของแต่ละประเทศในเอเชียได้เสนอแนะแนวทางการทำงานร่วมกันอีกด้วย
[adrotate banner=”3″]
อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ไทยยังถือเป็นโอกาสสร้างการรับรู้ให้แก่นานาชาติ ถึงนโยบายที่รัฐบาลไทยน้อมนำเอาศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นหลักในการบริหารจัดการน้ำ และนำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติมาเป็นกรอบพื้นฐานในการจัดทำยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี รวมถึงสมาชิกสภาน้ำเอเชีย และภาคเครือข่ายได้เห็นผลการดำเนินงานด้านน้ำที่ไทยดำเนินการตามพันธสัญญาที่ร่วมรับรองในเวทีต่างๆ อาทิ ความตกลงปารีส ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปฎิญญาน้ำโลก และล่าสุดปฏิญญาเสียมราฐที่เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกจัดตั้งหน่วยงานบูรณาการด้านน้ำระดับนโยบาย ซึ่งรัฐบาลไทยได้ดำเนินการแล้วโดยตั้ง สทนช. เป็นหน่วยงานกลางขับเคลื่อนงานบูรณาการด้านน้ำทั้งระบบ รวมถึงการปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวกับน้ำซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ที่แสดงถึงบทบาทความเป็นผู้นำด้านน้ำของเอเชียและอาเซียน เพื่อเตรียมการในปี 2562 ซึ่งไทยจะเป็นประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์
“การประชุมวิชาการวิชาการด้านน้ำของภูมิภาคเอเชีย ในครั้งนี้เป็นการอภิปรายในหัวข้อเรื่อง “วิสัยทัศน์และทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของเอเชีย” โดยมีกรรมการสภาน้ำแห่งเอเชีย ผู้แทนสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย และเครือข่ายร่วมอภิปรายในประเด็นต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์และส่งผลกระทบกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในเอเชียทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานและอาหาร น้ำกับระบบนิเวศ ขณะเดียวกัน ในวันที่ 26 พ.ค.นี้ผมจะรับมอบตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการบริหารสภาน้ำแห่งเอเชีย ในฐานะที่ร่วมสนับสนุนและผลักดันกิจกรรมต่างๆ ของสภาน้ำแห่งเอเชียมาโดยตลอด ตั้งแต่ปฏิบัติหน้าที่ที่กรมชลประทาน ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาน้ำในภูมิภาคเอเชียกับไทยมีความใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายสมเกียรติ กล่าว.