“นฤมล” นำทีมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ มอบถุงยังชีพ บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่เมืองคอน

  •  
  •  
  •  
  •  

“นฤมล” นำทีมกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่นครศรีธรรมราช มอบถุงยังชีพ บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน พร้อมสั่งการหน่วยงานในสังกัดเร่งสำรวจความเสียหาย เยียวยาเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยด่วนที่สุด

วันที่ 18 ธันวาคม  2567 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำคลองท่าดี บริเวณสถานีโทรมาตรเพื่อการเตือนภัย X.285 คลองนครน้อย (คลองหน้าเมือง) ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช โดยมี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในส่วนจังหวัดให้การต้อนรับในพื้นที่ หลังจากนั้น รัฐมนตรีเกษตรฯ และคณะ เดินทางต่อไปยัง ศูนย์พักพิงชั่วคราวโรงเรียนวัดศาลามีชัย ตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 500 ถุง และมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานให้แก่เกษตรกรด้วย

โดย ศ.ดร.นฤมล ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งสำรวจพื้นที่ความเสียหายและรายงานมายังส่วนกลาง เพื่อจัดทำแผนเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรม ประมง ปศุสัตว์ ให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้โดยเร็วที่สุด

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าดี ส่งผลให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งคลองท่าดีเป็นลำน้ำสายหลักที่ไหลผ่านตัวเมืองนครศรีธรรมราชก่อนลงสู่ทะเล โดยมีคลองสาขา 5 สาย ได้แก่ คลองท่าชัก คลองนครน้อย คลองป่าเหล้า คลองสวนหลวง และคลองคูพาย ทำหน้าที่ในการช่วยระบายน้ำ

ด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ใช้สถานีโทรมาตรในการเฝ้าระวังและเตือนภัย ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชได้รับทราบสถานการณ์น้ำล่วงหน้าได้ประมาณ 20 ชั่วโมง ก่อนที่น้ำจากต้นน้ำจะไหลมาถึง ซึ่งสามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ได้ อีกทั้ง ได้เข้าไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำตามจุดต่าง ๆ ตามแผนที่ได้เตรียมรับมือไว้ล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ภาพรวมสถานการณ์น้ำในปัจจุบันดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำในหลายพื้นที่ลดลงใกล้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัย กรมชลประทานได้วางแผนไว้ 2 ระยะ ได้แก่ แผนระยะสั้น ดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองทั้ง 5 สาย ความยาวรวมทั้งสิ้น 26.90 กิโลเมตร โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อช่วยในการเร่งระบายน้ำ และแผนระยะยาว โดยดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง มีความคืบหน้าแล้วประมาณ 40% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570