เริ่มแล้ว “การประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดิน และน้ำ เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน” จัดโดยกระทรวงฯจับมือกับ “รมว.นฤมล” จับมือ FAO จัดขึ้นใจกลางกรุงเทน หวังดึงความร่วมมือจากทั่วโลกพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารของโลกอย่างยั่งยืน “นฤมล” เผยกลางเวที ระบุไทยพร้อมเดินหน้าในการบริหารจัดการดินและน้ำ ภายใต้ “ปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการความขาดแคลนน้ำ และการฟื้นฟูดินเพื่อระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น”
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดิน และน้ำ เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน (The International Soil and Water Forum 2024) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2567 โดยมี นายฉู ตงหยู ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและการเกษตร แห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) รัฐมนตรีหรือผู้แทนระดับรัฐมนตรีของประเทศต่าง ๆ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร เน้นยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย ด้วยแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยมุ่งเน้นให้นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร เช่น เกษตรแม่นยำ หรือเกษตรอัจฉริยะ มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร เร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งยกระดับรายได้ของเกษตรกร
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นในเรื่องการจัดการที่ดินทำดินให้เกษตรกร และการบริหารจัดการน้ำ โดยจะต้องเชื่อมโยงกับ ทุกหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมโดยประเด็นการจัดการและพัฒนาทรัพยากรดินเกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ส่งเสริมฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน สนับสนุนให้ปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ (Agri-Map) รวมถึงการส่งเสริมการทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG/Carbon Credit โดยการจัดการดินและปุ๋ยให้เหมาะสมกับพืช การลดการเผาตอซังพืช การใช้สารชีวภัณฑ์ ลดการใช้สารเคมี และใช้นวัตกรรมในการเพิ่มผลผลิต และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบดิจิทัล แอปพลิเคชัน หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง พัฒนาสู่เกษตรทันสมัยด้วยเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกร โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ส่งเสริมหมอดินอาสาและเกษตรกรให้สามารถปรับเปลี่ยนตนเองไปสู่การเป็นผู้ประกอบการทางการเกษตร และสนับสนุนการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน รวมถึงเน้นการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งมั่นที่จะให้เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน
ขณะเดียวกัน รายงานของ FAO ว่าด้วยสถานการณ์ทรัพยากรดินและน้ำเพื่ออาหารและการเกษตรของโลก (SOLAW 2021) ยังเน้นย้ำถึงสภาพวิกฤตของดิน และทรัพยากรน้ำอันเนื่องมาจากความรุนแรงของความรุนแรงของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการจัดการที่ยั่งยืนของทรัพยากรพื้นฐานเหล่านี้ เพื่อปกป้องความมั่นคงทางอาหารในอนาคต รายงานเน้นย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรม การกำกับดูแลที่ครอบคลุม และแนวทางการจัดการทรัพยากรแบบผสมผสาน และจัดการกับความท้าทายของที่ดินและความเสื่อมโทรมของดิน การขาดแคลนน้ำ และคุณภาพน้ำลดลง เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนผ่านการบูรณาการการวางแผน แนวทางปฏิบัติที่ชาญฉลาดด้านสภาพอากาศ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการกำกับดูแลที่มีประสิทธิผล โดยเน้นย้ำความจำเป็นของความร่วมมือระดับโลกในการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรอาหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างครอบคลุมยืดหยุ่นและยั่งยืน
กระทรวงเกษตรฯ จึงร่วมกับ FAO จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดิน และน้ำ เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน (The International Soil and Water Forum 2024) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมุ่งมั่นในเรื่องการจัดการดิน และน้ำอย่างบูรณาการที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นรากฐานของการพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหาร อีกทั้งเพื่อเทิดทูนพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านดินและน้ำ เป็นโอกาสอันดีในการนำเสนอผลงานวิจัยด้านดินและน้ำของนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงเป็นเวทีให้แก่ผู้นำไทยและต่างชาติร่วมให้ข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
“ประเทศไทยจะได้แสดงออกถึงบทบาทด้านวิชาการด้านการบริหารจัดการดินและน้ำ ภายใต้ ปฏิญญารัฐมนตรี/แถลงการณ์การจัดการการขาดแคลนน้ำและการพลิกกลับความเสื่อมโทรมของดินเพื่อระบบอาหารเกษตรที่ยั่งยืนและฟื้นตัวได้ และเป็นการสร้างเครือข่ายนักวิชาการของไทยและต่างชาติในด้านการจัดการดินและน้ำแบบบูรณาการที่ยั่งยืนต่อไป” รมว.เกษตรฯ กล่าว
สำหรับวันดินโลกในปีนี้มีความสำคัญเนื่องจากเป็นการก้าวสู่ปีที่ 11 ของการประกาศให้มีวันดินโลกนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาวันดินโลกทำให้เรื่องดินมีความสำคัญและได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นในเวทีโลก หลายประเทศตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ ฟื้นฟูดิน มีการออกมาตรการ นโยบาย กฎหมายที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรดิน รวมทั้งจำนวนงบประมาณในเรื่องการจัดการดินก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี
ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักถึงผลสำเร็จอันสำคัญนี้ และเพื่อเปิดโอกาสให้ทั่วโลกมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองการก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 ของวันดินโลก 5 ธันวาคมไปพร้อม ๆ กัน จึงได้ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยกระดับการจัดงานวันดินโลกของไทยให้เป็นการจัดงานระดับโลกอย่างยิ่งใหญ่ ในชื่อ Global Celebration of the World Soil Day ซึ่งถ่ายทอดสัญญาณสดไปยังทั่วโลกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมาอีกด้วย