อนุ กมธ.บริหารจัดการน้ำและมลพิษ วุฒิสภา ล็อคเป้าลุยสางปัญหาขยะมลพิษ-การคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำ

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                                    ไพบูลย์ ณะบุตรจอม

อนุ กมธ.บริหารจัดการน้ำและมลพิษ วุฒิสภา เริ่มสตาร์ทเครื่องหาแนวทางแก้ปัญหาขยะล้น-การคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำ ระบุปัญหาขยะส่วนใหญ่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ที่เห็นชัดในจังหวัดสมุทรสาครและพิษณุโลก ขณะที่พื้นที่ชุ่มน้ำพบมีจำนวนมากถูกเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่การเกษตร อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และอีกส่วนหนึ่งมีสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก เป็นเหตุทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยรุนแรงในหลายพื้นที่

นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดพิจิตร ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ มลพิษและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ครั้งแรก ว่า อนุกรรมาธิการฯ ได้มีมติให้เร่งศึกษาหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาขยะที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะปัญหาขยะอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาคร และปัญหาขยะในจังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ งมีแผนที่จะเดินทางไปศึกษาดูงานศูนย์บริหารและจัดการขยะไซเคิลต้นแบบจัดการขยะพลาสติกครบวงจร ที่จังหวัดนครปฐม เพื่อนำองค์ความรู้และประสบการณ์มาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาขยะในประเทศไทย

นายไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่เพื่อศึกษาหาข้อเท็จจริง และนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง การดำเนินการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของคณะอนุกรรมาธิการฯ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศ โดยจะผลักดันให้นำไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการในการจัดการขยะที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ในการประชุมได้มีการหารือกันอย่างเข้มข้น ซึ่งนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ ก็ได้มาร่วมให้ข้อเสนอนแนะ และก็ได้มีความเห็นร่วมกันว่าจะมุ่งการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงปัญหาการบริหารจัดการน้ำเพื่อการบริโภค อุปโภค ที่เล็งไว้ก็คือที่ปราจีนบุรี รวมถึงปัญหาพื้นที่ชุ่มน้ำในหลายแห่งกำลังถูกคุกคาม จากการบุกรุกและกิจกรรมการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ก็เป็นประเด็นที่คณะอนุกรรมาธิการให้ความสนใจ

“พื้นที่ชุ่มน้ำมีบทบาทสำคัญในการรองรับน้ำ ช่วยชะลอ และป้องกันน้ำท่วม แต่ในปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำจำนวนมากถูกเปลี่ยนแปลงไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น การเกษตร อุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น นอกจากนี้ พื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่งยังเสื่อมโทรมอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูและปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศและเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญสำหรับประชาชนในพื้นที่” นายไพบูลย์ กล่าว