กรมชลฯกำหนด 8 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 67/68

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลฯ รับมือฝนหนักภาคใต้ พร้อมกำหนด 8 มาตรการวางแผนรองรับและจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 67/68 สำรองน้ำไว้ใช้ตลอดแล้งนี้ ล่าสุดสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 35,633 ล้าน ลบ.ม. 75% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีน้ำต้นทุนกว่า 83% 

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ

สำหรับเป็นข้อมูลการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม สอดคล้องในแต่ละพื้นที่ พบว่าปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 35,633 ล้าน ลบ.ม. (75% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันประมาณ 15,060 ล้าน ลบ.ม. (83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)

ปกรณ์ สุตสุนทร

ด้านภาพรวมสถานการณ์น้ำทางตอนบน มีแนวโน้มเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,394 ลบ.ม./วินาที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,051 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้พิจารณาทยอยปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และใช้ระบบชลประทานเหนือเขื่อนเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง แบ่งรับน้ำตามศักยภาพ ช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่ เร่งการระบายน้ำจากทางตอนบนลงสู่ตอนล่างทำได้เร็วยิ่งขึ้น

ส่วนบลุ่มน้ำชี-มูล กรมชลประทาน ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย ได้แก่ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ และเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอสำหรับรองรับความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้

ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ที่เข้าสู่ฤดูฝน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการ รับมือฤดูฝน ปี 2567 อย่างเคร่งครัด จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ ประจำสุดเสี่ยง ให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์น้ำได้อย่างทันที รวมทั้งหมั่นตรวจสอบและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้นกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2567/68 มี 8 มาตรการ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 – 30 เมษายน 2568 จากปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 โดยมีแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งประเทศจำนวน 29,170 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับความสำคัญดังนี้ เพื่อการเกษตรฤดูแล้ง 16,555 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 3,050 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 800 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 8,765 ล้าน ลบ.ม. และสำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝนปี 2568 อีก 15,080 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่คาดการณ์ปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศรวม 10.01 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง 9,000 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำเพื่อการเกษตร 6,410 ล้าน ลบ.ม. เพื่ออุปโภค-บริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. เพื่ออุตสาหกรรม 135 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,305 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะปฏิบัติตาม 8 มาตรการรับมือฤดูแล้ง ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด และขอประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วน ใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดเพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต