สรุปทุกเขื่อนมีปริมาณน้ำสำรองแล้วทั้งสิ้นทั่วไทย 83%

  •  
  •  
  •  
  •  

วันที่ 28 ต.ค. 67  นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน

นายเดช  กล่าวว่าปัจจุบัน (28 ต.ค.67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 63,138 ล้าน ลบ.ม. ( 83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 21,575 ล้าน ลบ.ม. (87% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนในปลายเดือนตุลาคมนี้ คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พ.ย.67 คาดว่าจะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศเก็บกักรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 58,329 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 34,787 ล้าน ลบ.ม. (82% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นปริมาณน้ำใช้การ 34,787 ล้าน ลบ.ม. (73% ของความจุใช้การของอ่างฯ) ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา

สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ได้เน้นย้ำให้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ท้ายน้ำ เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญให้หมั่นตรวจสอบอาคารชลประทานและระบบการระบายน้ำ ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำจุดเสี่ยง รวมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปโดยสะดวก สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์