กรมชลประทาน เดินหน้าจัดจราจรน้ำเจ้าพระยา ลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่าง ใช้ระบบชลประทานเหนือเขื่อนเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง แบ่งรับน้ำตามศักยภาพ ย้ำบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์ ลดผลกระทบประชาชนได้เป็นอย่างมาก ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา โฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมชลประทานประกาศแจ้งเตือนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากสถานการณ์น้ำที่มีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องมาจาก ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านที่จังหวัดนครสวรรค์ (สถานีวัดน้ำ C2) และปริมาณน้ำที่มาเติมจากแม่น้ำสะแกกรังมีแนวโน้มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจะมีระดับน้ำสูงขึ้น ไม่เกิน +18.00 ม.รทก. ส่วนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านอัตราไม่เกิน1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นั้น กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง รับน้ำเข้าไปตามศักยภาพของคลอง เพื่อให้เกษตรกรตลอดแนวคลองนำไปใช้ประโยชน์ ก่อนจะใช้เขื่อนเจ้าพระยาเป็นเครื่องมือในการหน่วงน้ำและชะลอน้ำไว้บริเวณเหนือเขื่อน ช่วยบรรเทาผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ให้ได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด
ส่งผลให้ปัจจุบัน (26 ต.ค. 67) มีระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.29 ม.รทก. ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน 1,699 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2.82 เมตร ส่วนที่สถานี C.35 อำเภอบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยประมาณ 1,256 ลบ.ม./วินาที คาดการณ์ว่าจากนี้อยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาวแล้ว ปริมาณน้ำจากทางตอนบนและน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จะมีแนวโน้มทรงตัว หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมระดับน้ำจะทยอยปรับลดลงในระยะต่อไป
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกลงมา โดยไม่ให้ส่งผลกระทบกับพื้นที่ทางด้านท้ายอ่างฯ ควบคู่กับการเก็บกักน้ำสำรองไว้สำหรับใช้เป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งหน้าที่จะมาถึงนี้ให้ได้มากที่สุด