สทนช.ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแผนรับมือฝนภาคกลาง-น้ำทะเลหนุนสูง เน้นปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

  •  
  •  
  •  
  •  
สทนช. เร่งวางแนวทางลดมวลน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนไหลสู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อเตรียมทยอยปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อน รัยมือฝนถล่มในพื้นที่ภาคกลางและใต้ ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน พร้อมตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ดำเนินงานป้องกันอุทกภัยเชิงรุก 
วันที่ 9 ตุลาคม 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สทนช. ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด
เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. คาดว่าในระยะนี้ปริมาณฝนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะลดลง โดยมีแนวโน้มที่ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 12 – 14 ต.ค. 67 ประกอบกับ จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) มีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 13 – 24 ต.ค. 67 และมวลน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนซึ่งจะไหลลงมาสมทบกับปริมาณน้ำในแม่น้ำ
                                                                          ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล
ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางในการลดปริมาณน้ำที่มาจากพื้นที่ตอนบนที่จะไหลมายังเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการระบาย 2,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที โดยกรมชลประทานจะพิจารณาระบายน้ำเพิ่มเติมไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ ลงสู่คลองชัยนาท – ป่าสัก พร้อมทั้งจะผันน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำให้เกษตรกรใช้สำหรับเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง
โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันในการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับปัจจุบัน คือ +16.5 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งลดลงจากก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ในระดับ +17.3 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมทั้งจะมีการทยอยปรับลดอัตราการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงตามลำดับ โดยในวันพรุ่งนี้ (10 ต.ค. 67) จะเริ่มปรับลดลงในอัตรา 50 – 100 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนบริเวณท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุดตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ จากแนวโน้มที่ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ในระยะนี้และช่วงหลังจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้ สทนช. เตรียมพิจารณาตั้งศูนย์ส่วนหน้าในภาคใต้เพื่อดำเนินงานเชิงรุก ทั้งคาดการณ์สถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ โดยได้มีการถอดบทเรียนจากการดำเนินงานในฤดูฝนที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มีการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากในระยะที่ยังไม่ได้ฝนตกหนักมากนัก โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 9 – 12 ต.ค. 67 สทนช. ได้ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง บริเวณ จ.ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมกันนี้ ได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยรายอำเภอ ล่วงหน้า 3 วัน จากปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 200 มิลลิเมตร ได้แก่ จ.พังงา อ.ตะกั่วป่า กะปง ท้ายเหมือง เมืองพังงา คุระบุรี จ.ยะลา อ.กาบัง ยะหา เบตง ธารโต จ.สงขลา อ.สะเดา คลองหอยโข่ง นาทวี สะบ้าย้อย จ.สุราษฎร์ธานี อ.เวียงสระ จ.ตรัง อ.เมืองตรัง ห้วยยอด นาโยง วังวิเศษ จ.สตูล อ.ควนกาหลง จ.กระบี่ อ.เมืองกระบี่ คลองท่อม ซึ่ง สทนช. ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนแล้ว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำปิง ปัจจุบันที่ จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำบริเวณสถานี P.1 สะพานนวรัฐ ได้ลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่งแล้ว โดยมวลน้ำได้ไหลไปยัง อ.สารภี และไหลไปสู่ จ.ลำพูน บริเวณ อ.เมืองลำพูน ซึ่งปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำสูงแต่มีแนวโน้มลดลง คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วันนี้ และในส่วนของจังหวัดอื่น ๆ ที่ยังคงมีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการให้ความช่วยเหลือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สทนช.ได้ร่วมประเมินติดตามคาดการณ์การเกิดพายุที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดพายุได้อีก 1 ลูก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันนี้ – 20 ต.ค. 67 ยังไม่พบความเสี่ยงในการก่อตัวของพายุที่จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทย