นักวิชาการ มก.-ทีมงาน ค้นพบ“มะพลับภูวัว”พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก

  •  
  •  
  •  
  •  

นักวิชาการจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ร่วมกับทีมงานจากมหิดล นักพฤกษศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติฯและนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประจำสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ร่วมกันศึกษาพืชในสกุลมะเกลือ  ที่ไม่ทราบชนิด จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก มีลักษณะ สัณฐานวิทยาและพันธุกรรมที่แตกต่างจากชนิดที่ได้รายงานไว้เดิมอย่างชัดเจน “มะพลับภูวัว”

          สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.สุธีร์ ดวงใจ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ดร. สมราน สุดดี นายสุคิด เรืองเรื่อ นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ Dr. David Middleton นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประจำสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ได้ร่วมกันศึกษาตรวจสอบพืชในสกุลมะเกลือ (Diospyros) ที่ไม่ทราบชนิด ได้มีการเก็บตัวอย่างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จังหวัดบึงกาฬโดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์และเจ้าหน้าที่ของสำนักหอพรรณไม้

       จากการที่ศึกษากันแล้วได้ข้อสรุปว่า เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกเนื่องจากมีลักษณะ สัณฐานวิทยาและพันธุกรรมที่แตกต่างจากชนิดที่ได้รายงานไว้เดิมอย่างชัดเจน จึงได้ตั้งชื่อพืชชนิดใหม่นี้ว่า Diospyrosphuwuaensis Duangjai, Rueangr. & Suddee หรือมะพลับภูวัว คำระบุชนิด phuwuaensis มาจากพื้นที่ที่พืชชนิดนี้กระจายพันธ์อยู่นั้นคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว

       มะพลับภูวัว เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เป็นพืชเฉพาะถิ่นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พบเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว มักขึ้นตามริมลำห้วยในป่าดิบแล้ง อยู่ในวงศ์มะเกลือ หรือ Family Ebenaceae  ซึ่งพรรณไม้หลายชนิดในวงศ์นี้ สามารถใช้ประโยชน์ในรูปเนื้อไม้ บางชนิดมีผลที่สามารถรับประทานได้ บางชนิดมีการใช้ประโยชน์ทางยาและสีย้อม

      ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปทรงปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปรี หลังใบเขียวเข้ม ท้องใบเขียวนวล โคนใบสอบ ปลายใยแหลมมีหติ่ง ของใบเรียบ

     ดอก ออกเป็นช่อ ตามซอกใบหรือกิ่งอ่อนที่ทิ้งใบ ดอกบานกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีจำนวน 4 – 5 กลีบ กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน กลีบดอกสีขาว

      ผล  รูปทรงไข่ ขนาด 1.3 – 1.8 ซม. ผลอ่อนสีเขียวอ่อน สุกสีม่วงดำ และดำกลีบจุกผลที่มีลักษณะเรียวยาว และบิด เป็นพรรณไม้ในสกุลนี้เพียงชนิดเดียวของไทยที่มีลักษณะกลีบจุกผลยาวเลยตัวผลอย่างชัดเจน มะพลับภูวัวเป็นพืชเฉพาะถิ่นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พบเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว มักขึ้นตามริมลำห้วยในป่าดิบแล้ง

      อนึ่งเนื่องจากมะพลับภูวัวมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับมะเกลือ (Diospyros mollis) ซึ่งมีรายงานการใช้ประโยชน์ทางยาและสีย้อม ดังนั้นผู้ศึกษาจักได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงศักยภาพการใช้ประโยชน์ในลักษณะดังกล่าวของมะพลับภูวัว ผลงานดังกล่าวได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany)