โดย …นายสวีสอง
หลายปีดีดักแล้วครับ ไม่ค่อยเห็นและไม่ได้รับประทานผล “มะมุด” แต่สมัยเด็กมีความคุ้นเคยพอสมควร เพราะแถวภาคใต้ บางบ้านจะมีต้น “มะมุด” ขึ้นต้นสองต้น หากดูผิวเผินผล”มะมุด”คล้ายมะม่วงป่ามาก ชาวบ้านนิยมนำผลอ่อน ซึ่งมีรสเปรี้ยวจัด จึงมาแกงส้ม คือได้เปรี้ยวแทนส้มแขก หรือมะขามเปียก พอแกงสุกแล้วความเปรี้ยวคายออกอยู่ในน้ำแกง เนื้อของ”มะมุด”ก็กินได้แทนผักอร่อยมาก
บางคนก็นำแกงคั่วส้ม แกงเหลือง น้ำพริกมะมุด เป็นต้น ผลสุกรสหวานอมเปรี้ยว เนื้อหยาบ ที่สำคัญกลิ่นแรงมาก หากอยู่ใต้ลมจะมีกลิ่นไปไกลมากหลายร้อยเมตร กลิ่นแรงกว่าทุกเรียนสุกจากต้น หรือแรงกว่าลูกจำปาดะเสียอีก สมัยเด็กๆถ้าได้กลิ่นหอมของมะมุดแล้ว จะวิ่งแข่งไปหากันอย่างสนุกสนาน
วันก่อน พรรคพวกนำมาฝาก เป็นมะมุดอ่อน 2 ผล พอดีมีปลาช่อนนาอยู่ด้วยแล้วจึงนำมาแกงส้มกับปลาช่อนนา อีกส่วนหนึ่งทำน้ำพริกมะมุด ถ้าจะให้ดีเอามะมุดอ่อนเก็บไว้ 3-4 วันเนื้อเริ่มอ่อนมีกลื่นนิดๆทำให้แกงส้มมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวน่ารับประทาน และที่สำคัญผลของมะมุดมีวิตามินซีสูงด้วย
ขณะเดียวกันในอดีตชาวบ้านนิยมใช้มะมุดเป็นพืชสมุนไพร คือเมล็ดมีรสฝาดจัด ใช้รักษาอาการท้องร่วง สมานแผล รวมถึงสมานลำไส้ด้วย ส่วนเนื้อสดของเมล็ดผสมกับน้ำซาวข้าวทาแก้แผลเปื่อย แผลเป็นหนอง ใบอ่อนหรือยอด ขยี้กับปูนแดงเอาแต่น้ำทาแผลเปื่อยผุพองเป็น
[adrotate banner=”3″]
“มะมุด”เป็นพืชในสกุลเดียวกับมะม่วง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงเต็มที่ 30-35 เมตร เส้นรอบลำต้นบางต้นถึง 150 ซม.มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า : Mangifera foetida Lour.อยู่ในวงศ์: AMACARDIACEAE ลำต้นเปลาตรงเปลือกสีน้ำตาลเข้มหรือคล้ำ ตามผิวเปลือกแตกเป็นสะเก็ด หากโคนของแข็งมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวขุ่นซึมออกมา แตกกิ่งก้านสูงเป็นทรงพุ่มไม่ผลัดใบ
ใบ ใบเดี่ยวออกเรียงเวียนสลับ ตามปลายกิ่ง รูปทรงรีแกมขอบขนานบิดเป็นคลื่น กว้าง 4-10 ซม. ยาว 10-30 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบแหลมมีติ่ง ทู่ๆ มีเส้นแขนงใบมี 12-24 คู่ ก้านใบยาว 2-5.5 ซม.
ดอก ออกเป็นช่อกระจุกขนาดใหญ่ ช่อหนึ่งยาวราว 8-20 ซม. แต่ละช่อมีดอกย่อยขนาดเล็กมี 5 กลีบ กว้าง 2.5 มม. ยาว 6-10 มม. มีกลีบรองกลีบดอกรูปไข่ ขนาด 2-4 มม.เวลาบานสีชมพู หรือสีส้ม กลางมีเกสรผู้มี 5 อัน
ผล รูปทรงมนคล้ายรูปไข่ ลักษณะเป็นป้อมๆและเบี้ยว กว้าง 7-9 ซม. ยาว 10-11 ซม. เปลือกสีเหลืองแกมเขียว เนื้อหนาหบยบ ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด
ขยายพันธุ์นิยมเพาะเมล็ด