อย่ามองข้าม “เสม็ดขาว” มีประโยชน์มหาศาล

  •  
  •  
  •  
  •  

บายไลน์ -นายสวีสอง

            เท่าที่จำความได้ ผมเกิดมาท่ามกลางล้อมรอบของต้น “เสม็ดขาว” ที่ขึ้นเต็มตามท้องทุ่งที่มีดินทราย ป่าพรุ แต่ไม่เคยเห็นชาวบ้านนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกจากเอามาเผ่าถ่าน ทำไม้หลา (เชื้อเพลิงของรถไฟยุคไอน้ำ) เปลือกเลาะออกมาทำหลังกระท่อมกลางสวน หรือเอาไม้มาทำรั้ว เพราะลำต้นตรงดี จะมีบ้างเอายอดมาจิ้มน้ำพริก แต่น้อยเพราะกลิ่นฉุ่น

            ประโยชน์ทางอ้อมที่เห็นชัด คือช่วงต้นฝน ตามป่าเสม็ด จะมีเห็ดชนิดหนึ่งงอกตามโคนต้นเสม็ด เรียกว่า “เห็ดเสม็ด” ดอกเห็ดคล้ายเห็ดโคนญี่ปุ่น หรือยานางิ สีน้ำตาลอมดำ แต่ดอกใหญ่กว่า ก้านเห็ดสั้นกว่า เมื่อนำไปต้มจะมีเมือกเล็กน้อย จับแล้วลื่น รสชาติออกขมนิดๆ เป็นเห็ดจำพวก Ectomycorrhiza และมีชื่อวิทยาศาสตร์ Boletus griseipurpureus Corner ถือเป็นเห็ดยอดนิยมของชาวใต้เลยก็ว่าได้นิยมจิ้มน้ำพริก และยำ

           ในความเป็นจริงแล้ว พอค้นคว้ามา พบว่า มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะด้านสมุนไพร คือตามใบมีน้ำมันเขียว รสร้อน กลิ่นคล้ายการบูร  เป็นยาคือรับประทานขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ ขับลม  อุดฟันและกินมากขับพยาธิ สมัยเด็กเห็แม่ครัวเอาผลเสม็ดขาวแทนพริกไทย นำไปปรุงอาหารทำให้มีกลิ่นน่ารับประทานอีกแบบหนึ่ง

[adrotate banner=”3″]

          นอกจากนี้ น้ำมันที่สกัดได้จากใบใช้เป็นยาดมเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ขับลม แก้จุกเสียด ท้องอืด ท้องขึ้น ถ้ากินมากจะเป็นยาขับพยาธิ และมีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ใช้    ใช้ทำเป็นยาหม่องแก้ปวดหัว รักษาโรคผิวหนัง ใช้ฆ่าเชื้อโรค และช่วยรักษาสิว ปัจจุบันพัฒนาเอาน้ำมันเขียวจากใบเสม็ดใช้ทาไล่ยุง ฆ่าหมัด ฆ่าเหา และฆ่าแมลง บางคนนำใบเสม็ดต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชา เป็นต้น

       เป็นไม้ต้นขนาดกลาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า : Melaleuca cajuputi ในวงศ์ MYRTACEAE  ลำต้นตรง สูงเต็มที่ราว 25  เมตร เปลือกต้นหนาสีขาว มีชั้นบางๆ เรียงซ้อนกันเป็นปึกหนาด้านบนสุดสีขาวแกมน้ำตาลเทา แต่เปลือกแผ่นชั้นในสุดสีขาวนวล ล้อมลำต้น ชาวบ้านเลาะเปลือกทำเป็นหลังคาแทนกระเบื้อง

            ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับตามกิ่ง  รูปทรงรีกึ่งใบหอก กว้าง 2-4 x 5-10 ซม. โคนใบและปลายใบแหลม ใบหนา ขอบใบเรียบ ใบเกลี้ยง ใบอ่อนจะออกสีแดง

                                                                      ภาพนี้ขอบคุณ : dnp.go.th

            ดอก ออกเป็นช่อยาว 3-9 ซม. ที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกย่อยเล็กจำนวนมากสีขาวนวล ดอกบานมีกลีบเลี้ยงยาว 0.3 ซม. โคนกลีบติดกัน กลีบดอกยาว 0.2-0.3 ซม. กลางดอกมีเกสรเพศผู้ยาวพ้นกลีบดอก

            ผล ออกเป็นเกาะตามแกน เป็นผลแห้งรูปถ้วยขนาดเล็ก ปลายปิด  กว้างยาวราว 03.-0.4 ซม.

            การขยายพันธุ์โดยเมล็ด ชอบที่ลุ่ม น้ำขัง อย่างบริเวณรอบพรุ หรือหนองน้ำ