นักวิจัย ม.เกษตรฯสกลนคร ค้นพบ “กระเจียวสรรพสี” พืชชนิดใหม่ของโลก มีแห่งเดียวในไทยที่ จ.ตาก

  •  
  •  
  •  
  •  

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร ค้นพบ“กระเจียวสรรพสี” พืชชนิดใหม่ของโลก ระบุกระจายพันธุ์อยู่ที่ป่าชุมชนในอำเภอพระธาตุผาแดง จังหวัดตาก เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ชี้เป็นพืชล้มลุก มีความสูงได้ถึง 80 ซม. มีลักษณะพิเศษคือใบประดับที่มีที่สีสันหลากหลาย  ดอกออกช่อที่ด้านข้างของลำต้น และตามช่อดอกมีใบประดับได้มากถึง 40 ใบ มีสีสันที่แตกต่างกันไป ทั้งสีขาวถึงสีชมพูอมม่วง และมักมีแต้มสีเขียวถึงสีชมพูที่ปลาย ส่วนกลีบดอกมีสีชมพูอ่อนถึงสีครีมมีแต้มสีชมพูอ่อนเป็นต้น

ดร.ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเกษตรและทรัพยากร คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “กระเจียวสรรพสี” พืชถิ่นเดียวของไทย พบกระจายพันธุ์อยู่ที่ป่าชุมชนในตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพียงแห่งเดียวเท่านั้น และรายงานการค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

เนื่องจากกระเจียวสรรพสี มีลักษณะพิเศษที่ยากจะพบในกระเจียวชนิดอื่นคือ ใบประดับที่มีที่สีสันหลากหลาย จึงเป็นที่มาของชื่อ กระเจียวสรรพสี และมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Harlequin curcuma  ซึ่งสอดคล้องกับชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma diversicolor ซึ่งมีความหมายว่ามีหลายสี เช่นเดียวกัน

                                                                                           ดร.ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์

ดร. ศุทธิณัฏฐ์ เปิดเผยว่า ได้พบกระเจียวสรรพสีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 โดยทำการเก็บตัวอย่าง ปลูกเลี้ยงจนออกดอกและทำการเก็บข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ รวมถึงได้ตรวจสอบกับข้อมูลพืชสกุลกระเจียว (Curcuma) ในพิพิธภัณฑ์พืชต่างๆ จนแน่ใจว่าเป็นชนิดที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน เนื่องจากกระเจียวสรรพสีจัดอยู่ในวงศ์ย่อย Curcuma (Subgenus Curcuma) ซึ่งมีความซับซ้อนทางอนุกรมวิธาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์ทราบให้มั่นใจว่า เป็นกระเจียวชนิดใหม่ของโลกอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับ Dr. Jana Leong-Škorničková นักอนุกรมวิธานผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิงอันดับต้นๆ ของโลกจากสวนพฤกษศาสตร์ประเทศสิงคโปร์ ในการเอื้อเฟื้อข้อมูลประกอบ จนสามารถจัดทำต้นฉบับบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici และได้รับการตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

กระเจียวสรรพสี เป็นพืชล้มลุก มีความสูงได้ถึง 80 ซ.ม. มีลำต้นใต้ดินเป็นรูปไข่หรือรูปทรงลูกแพร์ ลำต้นใต้ดินมีการแตกแขนง เนื้อด้านในลำต้นสีเหลืองครีม ก้านใบมักมีสีน้ำตาลแดงที่ฐาน ใบรูปรี แผ่นใบพับจีบมีสีเขียวมักมีแถบสีแดงที่เส้นกลางใบ ช่อดอกออกก่อนเกิดใบ ออกที่ด้านข้างของลำต้น ก้านช่อดอกสั้น ช่อดอกมีใบประดับได้มากถึง 40 ใบ มีสีสันหลากหลายตั้งแต่สีขาวถึงสีชมพูอมม่วง และมักมีแต้มสีเขียวถึงสีชมพูที่ปลาย ส่วนกลีบดอกมีสีชมพูอ่อนถึงสีครีมมีแต้มสีชมพูอ่อนที่ปลาย สเตมิโนดรูปขอบขนานเบี้ยว มีสีขาวครีมถึงสีเหลืองครีม กลีบปากรูปไข่มีแถบสีเหลืองหรือครีมที่กึ่งกลางของกลีบปากส่วนปลายกลีบปากแยกเป็นสองพู ก้านอับเรณูมีสีเหลือง อับเรณูสีขาวมีเดือยแหลม 1 คู่ รังไข่มีขนสั้นนุ่มปกคลุม

สำหรับลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก ดร. ศุทธิณัฏฐ์ ระบุว่า  กระเจียวสรรพสีมีลำต้นใต้ดินรูปไข่หรือรูปทรงลูกแพร์มักแตกแขนงสั้นๆ ช่อดอกรูปทรงรีกว้างหรือรี มีกระจุกใบประดับรูปรี ไข่กลับ หรือรูปไข่ มีสีขาวถึงสีชมพูอมม่วงมีแต้มสีเขียวถึงสีชมพูที่ปลาย มักเปลี่ยนเป็นสีเขียวเมื่อแก่ กระเจียวสรรพสีเป็นกระเจียวที่ออกดอกก่อนใบเพียงชนิดเดียวของไทยที่มีความแปรผันของสีใบประดับอย่างหลากหลายเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมของกระเจียวสรรพสีได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นลักษณะหาได้ยากในกระเจียว

ดร. ศุทธิณัฏฐ์  ยังได้ฝากถึงการพัฒนากระเจียวสรรพสีและการอนุรักษ์พืชชนิดใหม่ของโลกว่า “กระเจียวสรรพสี” เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย มีรายงานพบเพียงที่ป่าชุมชนในอำเภอพระธาตุผาแดง จังหวัดตาก เท่านั้น และจากช่อดอกที่มีสีสันหลากหลาย สวยงามและสามารถบานทนได้มากกว่า 1 เดือน จึงทำให้กระเจียวสรรพสีมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับต่อไป

แม้ว่ากระเจียวสรรพสีจะมีประชากรขนาดใหญ่ในถิ่นอาศัยธรรมชาติ แต่พบการกระจายพันธุ์เพียงแหล่งเดียวทำให้มีความสุ่มเสี่ยงต่อการลดจำนวนจากแหล่งธรรมชาติได้ ทางผู้วิจัยจึงได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเป็นการอนุรักษ์นอกถิ่นอาศัย (ex situ conservation) ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยในอนาคตต่อไป