กรมประมง ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 30 ล้านตัว ลงสู่ “ทุ่งโพธิ์พระยา” สร้างแหล่งอาหารโปรตีนชุมชนในพื้นที่

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง…ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 30 ล้านตัว ลงสู่ “ทุ่งโพธิ์พระยา” อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี หวังสร้างแหล่งอาหารโปรตีนชุมชน ด้วยการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ ตามโครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญของประเทศ คาดจะเกิดผลผลิตสัตว์น้ำ สร้างมูลค่าและเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกร ชุมชน ชาวประมง ประมาณ 40.56 ล้านบาท

วันที่ 17 กันยายน 2567 นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานเปิดโครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ “ทุ่งโพธิ์พระยา” ประจำปีงบประมาณ 2567 ณ คลองสองพี่น้อง ตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยงานวันนี้มี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 300 ราย

นางฐิติพร  เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงแบบชุมชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน จึงดำเนิน “กิจกรรมฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแหล่งอาหารโปรตีนชุมชนด้วยการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในพื้นที่แหล่งน้ำสำคัญ 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. แหล่งน้ำที่กรมประมงขอใช้ประโยชน์ในการบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำ 3 แห่ง ได้แก่ บึงบอระเพ็ด, หนองหาร และกว๊านพะเยา และ 2. แหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ลุ่มต่ำ ทุ่งสุโขทัย ทุ่งบางระกำ และลุ่มน้ำเจ้าพระยา 13 แห่ง ได้แก่ ทุ่งบางระกำ, ทุ่งเชียงราก, ทุ่งชัยนาท-ป่าสัก (ฝั่งซ้าย), ทุ่งท่าวุ้ง, ทุ่งบางกุ่ม, ทุ่งป่าโมก, ทุ่งบางกุ้ง, ทุ่งบางบาล-บ้านแพน, ทุ่งเจ้าเจ็ด, โครงการชลประทานพระยาบันลือ, โครงการชลประทานรังสิตใต้, ทุ่งผักไห่ และทุ่งโพธิ์พระยา (โครงการชลประทานโพธิ์พระยา)

โดยส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเพาะพันธุ์ปลาแบบง่ายด้วยชุดเพาะฟักไข่ปลาแบบเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) การอนุบาลลูกปลาเบื้องต้น และร่วมกันปล่อยลูกปลาที่เพาะฟักได้ลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในท้องถิ่นของตนเอง และใช้โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน้ำหลากสร้างเป็นแหล่งอาหารโปรตีน แหล่งสร้างอาชีพ และสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน

ทั้งนี้ตลอดการดำเนินกิจกรรมมีเป้าหมายในการปล่อยลูกปลาระยะแรกฟักจำนวน 480 ล้านตัว และพันธุ์ปลาขนาด 1 – 2 เซนติเมตร จำนวน 2.7 ล้านตัว คาดว่าจะเกิดผลผลิตสัตว์น้ำที่สร้างมูลค่าและเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกร ชุมชน ชาวประมง ประมาณ 40.56 ล้านบาท

สำหรับ “ทุ่งโพธิ์พระยา” หรือโครงการชลประทานโพธิ์พระยา เป็นทุ่งรับน้ำที่สำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ มีพื้นที่รวม 266,338 ไร่ จัดเป็นทุ่งรับน้ำที่มีศักยภาพในการรับน้ำในฤดูน้ำหลาก ซึ่งช่วยในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วม รวมถึงลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรอื่น

ส่วนโดยกิจกรรมในวันนี้มีการเสวนาในหัวข้อ “การฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี” โดย นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายวรัณยู ขุนเจริญรักษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด นายไพศาล สุขปุณพันธ์ ประมงจังหวัดสุพรรณบุรี และนายไมตรี แย้มบางยาง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประมงหรือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พร้อมกันนี้ ยังได้มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่ทุ่งโพธิ์พระยา ประกอบด้วย ปลาตะเพียนทอง ขนาด 2-3 เซนติเมตร จำนวน 1 แสนตัว ลูกพันธุ์ปลาตะเพียนขาวแรกฟัก จำนวน 15 ล้านตัว และลูกพันธุ์ปลาสร้อยแรกฟัก จำนวน 15 ล้านตัว พร้อมมอบพันธุ์ปลาตะเพียนทอง จำนวน 100,000 ตัว และมีเกษตรกรจากและศูนย์เรียนรู้อำเภอสองพี่น้อง (ฟาร์มลูกกุ้งเมืองเหน่อ) มอบกุ้งก้ามกราม จำนวน 20,000 ตัว ให้แก่ผู้นำชุมชน ทั้งหมด 6 ชุมชน

กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินกิจกรรมในวันนี้จะเป็นการส่งเสริมให้ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมงาน สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปบริหารจัดการทรัพยากรประมงในท้องถิ่นของตนเองได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาและให้ความรู้เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ชุมชนสามารถช่วยเหลือตนเองอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมในการการดูแล รักษา และเฝ้าระวัง เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด