กรมประมง เปิดแผนรับมือสถานการณ์อุทกภัยด้านประมง ปี 2567 พร้อมเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำที่มาพร้อมกับหน้าฝน แนะควรวางแผนการเลี้ยงและการป้องกัน เพื่อช่วยลดความสูญเสีย เผยหากเกษตรกรพบปัญหาด้านโรคสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2561-3372
นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในฐานะโฆษกกรมประมงว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นมากที่สุด ส่งผลให้มีฝนตกหนักมากในหลายพื้นที่และอาจเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันได้ จึงขอประกาศแจ้งเตือนให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำในช่วงฤดูฝน หมั่นดูแลสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมงอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้กรมประมงจึงได้ดำเนินการตามแผนรับสถานการณ์อุทกภัยปี 2567 ซึ่งเป็นแผนรับมือภัยธรรมชาติ ตั้งแต่การป้องกัน การแก้ไข และการฟื้นฟู จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามแผนรับสถานการณ์อุทกภัยปี 2567 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ โดยแบ่งแผนรับมือสถานการณ์อุทกภัยด้านประมง ออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ การดำเนินการก่อนเกิดภัย การดำเนินการขณะเกิดภัย และการดำเนินการหลังเกิดภัย
สุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์
ทั้งนี้ กรมประมง ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศในช่วงฤดูฝน ทำให้คุณภาพน้ำ อาทิ อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจน ความเป็นกรดเป็นด่าง ความขุ่น มีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ส่งผลให้สัตว์น้ำที่เกษตรกร เลี้ยงไว้ทั้งในบ่อดินและกระชังปรับตัวไม่ทัน เกิดความเครียด อ่อนแอ เสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ง่าย และอาจตายได้อย่างฉับพลัน
ดังนั้นเกษตรกรจึงควรเตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมการป้องกันอีกด้วย โดยมีข้อแนะนำที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรปฏิบัติตาม ดังนี้
1. วางแผนการเลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่ขึ้นทะเบียนมีคุณภาพดี และให้อาหาร ในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน อุณหภูมิน้ำจะลดลง ทำให้สัตว์น้ำกินอาหารน้อยลง หากให้อาหารในปริมาณมากเกิน จะทำให้มีอาหารเหลือตกค้างที่พื้นบ่อ ทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์น้ำได้
2. ช่วงที่อากาศปิดหรือมีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำลดลงอย่างฉับพลันส่งผลให้เกิดอาการน็อคน้ำและตายได้ เกษตรกรควรติดตั้งเครื่องให้อากาศหรือเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ กรณีที่ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของน้ำในบ่อลดลง ควรเติมวัสดุปูน เช่น ปูนขาว หรือปูนมาร์ล เป็นต้น และควรเติมเกลือ เพื่อลดความเครียดของสัตว์น้ำ
3. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์น้ำ โดยการเสริมอาหาร หรือวิตามินที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ เช่น โปรไบโอติก วิตามินซี วิตามินรวม แร่ธาตุต่าง ๆ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมประมง เป็นต้น
สำหรับโรคสัตว์น้ำที่ควรเฝ้าระวังในช่วงฤดูฝน เกษตรกรควรระวังการเกิดโรค ดังต่อไปนี้1. โรคไวรัส TiLV สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ Tilapia Lake Virus (TiLV) ส่วนใหญ่จะพบในปลานิล ลักษณะอาการ ที่พบ ปลามีอาการเซื่องซึม ปากเปื่อย ตาขุ่นหรือโปน ท้องบวม มีลำตัวสีเข้ม ผิวหนังด่าง มีแผลเลือดออกตามผิวหนัง กินอาหารน้อยหรือไม่กินอาหาร และจะทยอยตายในอัตราที่สูงถึง 50-100% โรคนี้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาหรือสารเคมี แต่ป้องกันโดย คัดเลือกลูกพันธุ์จากแหล่งเพาะพันธุ์ที่น่าเชื่อถือ ไม่มีประวัติการระบาดโรค และในระหว่างการเลี้ยงควรให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสมตามช่วงอายุของปลา เพื่อลดของเสียและสิ่งขับถ่ายสะสมในบ่อ
2. โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ลักษณะอาการที่เจอในปลาพบการตกเลือดบริเวณลำตัวหรือครีบ ผิวตัวเปื่อย ครีบกร่อน เกล็ดตั้ง ท้องบวม หากพบสัตว์น้ำมีอาการดังกล่าวให้ส่งตัวอย่างสัตว์น้ำมายังกรมประมง เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค และทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพและใช้ยาที่มีทะเบียนในการรักษาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
3. กลุ่มอาการเหงือกดำในกุ้งก้ามกราม สาเหตุเกิดจากการสะสมของเสียจำพวกไนไตรต์ และไนเตรตในบ่อ ลักษณะอาการที่พบ เหงือกกุ้งมีสีดำ ส่งผลต่อระบบการแลกเปลี่ยนแก๊สทำให้กุ้งอ่อนแอและอาจเกิดการติดเชื้ออื่น ๆ ตามมาได้ วิธีการป้องกัน ให้เตรียมบ่อให้ดีก่อนเลี้ยง มีการทำความสะอาดพื้นบ่อและเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ออกซิเจนเพียงพอต่อความต้องการของกุ้ง
หากเกษตรกรพบปัญหาด้านโรคสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2561-3372 หรือ แบบรายงานสัตว์น้ำป่วยหรือตาย (กพส.สร.1) ตาม QR Code ด้านล่างนี้ และสำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานประมงอำเภอหรือหน่วยงานอื่น ๆ ของกรมประมงทุกแห่งทั่วประเทศ