เร่งพัฒนา “โมเดลการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลเชิงระบบนิเวศของไทย” เป็นครั้งเเรก

  •  
  •  
  •  
  •  

อธิบดีกรมประมง นำทีมนักวิจัยจับมือองค์กรวิทยาศาสตร์ชั้นนำเเห่งเครือรัฐออสเตรเลีย เร่งพัฒนา “โมเดลการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลเชิงระบบนิเวศของไทย” ครั้งเเรกของประเทศไทย

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากกรมประมงเปิดสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการบริหารจัดการฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรประมง และเพื่อเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เพิ่มเติมจากการบริหารจัดการโดยใช้การวิเคราะห์จุด อ้างอิง “ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน” หรือ Maximum Sustainable Yield (MSY) ที่ใช้กันมาต่อเนื่องเเละยังเป็นเครื่องมือที่ใช้อยู่

จนถึงปัจจุบันองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์เเละอุตสาหกรรมเเห่งเครือจักรภพ (Commonwealth Scientific & Industrial Research Organization: CSIRO) เป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลออสเตรเลีย มีหน้าที่ในการดำเนินการวิจัยวิทยาศาสตร์ สิ่งเเวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศเเละพลังงาน เเละ CSIRO ยังมีบทบาทในการพัฒนาเเละส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ของอุตสาหกรรมเเละการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ รวมถึงการดำเนินการวิจัยทางสมุทรศาตร์เเละการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและการจัดการประมงเชิงระบบนิเวศ (Ecosystem-based fisheries management) ของเครือรัฐออสเตรเลียอีกด้วย

ทั้งนี้ เครือรัฐออสเตรเลียหรือทวีปออสเตรเลีย มีพื้นที่ตลอดเเนวชายฝั่ง ราว 59,600 กิโลเมตร มีการจัดการประมงเเบบโควตา การจับสัตว์น้ำส่วนบุคคลที่สามารถถ่ายโอนได้ (Individual Transferable Quota: ITQ) ร่วมกับการควบคุมปริมาณการลงแรงประมง (Total Allowable Effort : TAE) โดยการจัดสรรโควตานั้นจะจัดสรรเฉพาะชนิดสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงและมีขนาดใหญ่ ขึ้นมาใช้ประโยชน์เท่านั้น หลักการบริหารจัดการดังกล่าวประสบผลสำเร็จเเละได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นประเทศที่มี การจัดการประมงที่ดีที่สุดเเห่งหนึ่งของโลก เเละยังได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลว่าเป็นการประมงที่มีความยั่งยืนจาก Marine Stewardship Council หรือ MSC จำนวน 28 การประมง เเละเครือรัฐออสเตรเลียยังเป็นสมาชิกขององค์กร การจัดการประมงระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organization: RFMO) หลายองค์กร

รวมถึงคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) และความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (SIOFA) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอีกด้วย เเละเมื่อพิจารณาลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเครือรัฐออสเตรเลียจะพบว่า มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะตั้งอยู่ในเขตร้อนโดยมีพื้นที่ทางตอนใต้ตั้งอยู่ในเขตอบอุ่นจึงส่งผลให้สัตว์น้ำที่อาศัยโดยรอบพื้นที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำสูง จากลักษณะดังกล่าวจึงทำให้ด้านเหนือของเครือรัฐออสเตรเลียมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยทั้งในรูปเเบบการประมงแบบหลากหลายชนิดพันธุ์ (Multi-Species Fisheries) เเละเครื่องมือที่ใช้ทำการประมง อาทิ อวนลาก อวนล้อมจับ อวนติดตา คราดหอย ลอบ เป็นต้น

ดังนั้น การศึกษาวิจัยเพื่อเรียนรู้รูปเเบบ การบริหารจัดการ ทรัพยากรประมงของเครือรัฐออสเตรเลียจึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาเปรียบเทียบเเละประยุกต์ใช้ภายใต้ข้อจำกัด เเละสถานการณ์ที่เเตกต่างของการทำการประมงในประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการศึกษาวิจัยของกรมประมง ร่วมกับ CSIRO เครือรัฐออสเตรเลียในครั้งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิการกุศลพิว (Pew Charitable Trusts) สหรัฐอเมริกา ภายในโครงการวิจัยฯ จะมีการฝึกอบรมให้เเก่นักวิจัยประจำสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวิทยาศาสตร์กรมประมง เเละผู้เกี่ยวข้อง ในการบริหารเเละจัดการการใช้ข้อมูล การเก็บรวมรวมข้อมูลที่มีความจำเป็นกับการพัฒนาโมเดล FISHPATH เเละ ECOPATH รวมถึงการเเลกเปลี่ยนนักวิจัยเพื่อศึกษาเเนวทางการจัดการทรัพยากรประมงของทั้งสองประเทศ

โดยทีมนักวิจัยไทยได้เดินทางเพื่อศึกษารูปเเบบการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของเครือรัฐออสเตรเลียหลังเริ่มโครงการวิจัย ระหว่างวันที่ 17 – 21 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยรายละเอียดของการศึกษารูปแบบการจัดการในครั้งนี้ เป็นการหารือเกี่ยวกับหลักการจัดการประมงเชิงระบบนิเวศ (Ecosystem-based fisheries management) การประเมินผลกระทบของการประมงต่อระบบนิเวศ วิธีการการประเมินผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยใช้แบบจำลอง EAPATH/FISHPATH แนวทางการจัดการประมงโดยใช้ข้อมูลจากแบบจำลองระบบนิเวศ การสร้างฉากทัศน์ (Scenario) และการแปลผลที่ได้จากแบบจำลอง และการเปลี่ยนผ่านระบบการจัดการประมงของไทย โดยใช้แนวทางเชิงระบบนิเวศ กับนักวิจัยเเละผู้เชี่ยวชาญจาก CSIRO รวม 4 ท่าน

ประกอบด้วย ดร.Beth Fulton หัวหน้านักวิจัยด้านมหาสมุทรและเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ดร. Natalia Dowling ผู้เชี่ยวชาญด้าน Management Strategy Evaluation (MSE) ดร.Derek Staples ที่ปรึกษาด้านการประมง และอดีตเจ้าหน้าที่ FAO และ ดร.Keith Sainsbury นักวิจัยอิสระ อดีตเจ้าหน้าที่ CSIRO อดีตเจ้าหน้าที่ FAO และอดีตรองประธานคณะกรรมการ MSC (ผู้ออกแบบมาตรฐานประมงยั่งยืน) เเละคณะผู้วิจัย ได้มีการลงพื้นที่ท่าเทียบเรือ เมืองโฮบาร์ต รัฐทัสมาเนีย เพื่อศึกษาเเละพูดคุยกับชาวประมงที่ทำการประมงเบ็ดราวปลา เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการ เเบบคณะกรรมการ การให้โควตาการทำการประมง การเก็บเเละการรายงานข้อมูล รายละเอียดข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ ที่ชาวประมงต้องส่งต่อให้เเก่ภาครัฐเพื่อใช้ในการบริหารจัดการเเละจัดสรรโควตาในเเต่ละปี รวมถึงค่าธรรมเนียมที่ชาวประมง ต้องรับผิดชอบในเเต่ละปีอีกด้วย

จากนั้นคณะผู้วิจัยในโครงการทั้งฝ่ายไทย เเละเครือรัฐออสเตรเลีย ได้เดินทางไปประชุมร่วมกับผู้บริหารเเละเจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ทรัพยากรประมงของเครือรัฐออกเตรเลียจากกระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ เครือรัฐออสเตรเลีย (Department of Agriculture, Fisheries and Forestry : DAFF) เเละเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารจัดการประมงออสเตรเลีย (Australian Fisheries Management Authority : AFMA) ณ อาคารสำนักงาน DAFF (70 Northbourne Ava, Canberra city)

อย่างไรก็ตาม กรมประมงเชื่อมั่นว่าคณะนักวิจัยไทยที่ร่วมวิจัยในโครงการนี้ จะนำความรู้เกี่ยวกับหลักการจัดการประมง ในออสเตรเลีย โดยใช้แนวทางการจัดการเชิงระบบนิเวศมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการประมงของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพเเละเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยอันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนของทรัพยากรพร้อมกับการยอมรับในระดับสากล เเละสอดรับกับนโยบายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) การวิจัยภายใต้ กรอบความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย (พืช ปศุสัตว์ ประมง) เพื่อให้ประเทศไทยเคลื่อนเข้าสู่การเป็นศูนย์กลาง การเกษตรและอาหารของโลก ภายใต้ความยั่งยืนของทรัพยากรและความมั่นคงในการประกอบอาชีพ