“อรรถกร” ประชุมนัดแรกแก้ปัญหา “ปลาหมอคางดำ” เร่งวางกรอบแนวทางการทำงาน เตรียมตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด พร้อมเคาะ 5 มาตรการควบคุมกำจัดการแพร่ระบาด ดันยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ หวังแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ห้อง 134) และผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting โดยมี นางสาวจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายถาวร ทันใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
ทั้งนี้ จากปัญหาการรุกรานของปลาหมอคางดำในพื้นที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบนิเวศแหล่งน้ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเลหลายจังหวัด ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ณ วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 จากเกษตรกร ชาวประมง และผู้ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน พบว่ามีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำให้สำเร็จอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม
อรรถกร ศิริลัทธยากร
ดังนั้น จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ นายถาวร ทันใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ รวมทั้งตัวแทนภาคการประมง 7 จังหวัด และประมงจังหวัด 8 จังหวัด นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ โดยมีอธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ
ขณะเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำระดับจังหวัดซึ่งมีการแพร่ระบาดไปแล้วและยังต้องเฝ้าระวัง จำนวน 16 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ประมงจังหวัด ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคการประมง ภาคเอกชน เป็นคณะทำงาน มีอำนาจหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในการกำจัดและควบคุมในระดับพื้นที่ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสนับสนุน ติดตามและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนและหน่วยงานอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และรายงานผลการดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ อีกทั้ง ที่ประชุมยังได้ร่วมกันกำหนดกรอบการดำเนินงาน โดยจะเร่งจัดทำร่างแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2567 จากนั้นจะเสนอแผนเพื่อขอความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ 25 จังหวัดนั้น ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดใน 13 จังหวัด บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ จันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา โดยลักษณะการแพร่ระบาดจะพบทั้งคลองที่เชื่อมถึงกัน และพบเฉพาะบางแหล่งน้ำที่ห่างไกลออกไปซึ่งพบบางพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เฝ้าระวัง 3 จังหวัด ได้แก่ ตราด ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ส่วนอีก 9 จังหวัดยังไม่พบการแพร่ระบาด คือ พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณามาตรการการจัดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ประกอบด้วย 5 มาตรการ 11 กิจกรรม ดังนี้ 1. การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 4 กิจกรรม คือ 1) การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแหล่งที่พบ โดยการจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะกับสภาพพื้นที่ 2) การกำจัดปลาหมอคางดำจากบ่อเพาะเลี้ยง 3) การพัฒนาและทดสอบเครื่องมือประมงสำหรับการกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่นำร่อง และ 4) การสร้างเครือข่ายร่วมกันในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำ ทั้งในแหล่งน้ำและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
2. การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง 2 กิจกรรม คือ 1) การประเมินสถานภาพปลาหมอคางดำก่อน – หลังปล่อยปลาผู้ล่าลงในแหล่งน้ำ และ 2) การปล่อยปลาผู้ล่าเพื่อกำจัดลูกปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ 3. การนำปลาหมอคางดำจากระบบนิเวศไปกำจัดด้วยวิธีต่าง ๆ 2 กิจกรรม 1) การจัดหาแหล่งกระจายและจำหน่ายปลาหมอคางดำที่ถูกกำจัดออกจากระบบนิเวศ และ 2) การให้แนวทางการกำจัดปลาหมอคางดำด้วยวิธีต่าง ๆ
4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน 1 กิจกรรม โดยสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ 5. การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอ คางดำ 2 กิจกรรม 1) การประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความตระหนัก ให้กับทุกภาคส่วนเพื่อ เป็นการป้องกันและพร้อมรับมือการ แพร่ระบาด และข้อมูลด้านกฎหมาย และ 2) การจัดทำคู่มือแนวทางการรับมือ เมื่อพบเจอปลาหมอคางดำ สำหรับประชาชนและสำหรับเจ้าหน้าที่