กรมประมง “ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน” เริ่ม 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 67 ควบคุมการทำประมงในพื้นที่ 4 จังหวัด

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง จัดพิธี “ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2567” อย่างเป็นทางการแล้ว เริ่มจริงตั้งแต่ 1 เมษายน  – 30 มิถุนายน 2567 ควบคุมการทำประมงในพื้นที่ 4 จังหวัด “ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง” พร้อมปล่อยเรือตรวจประมงทะเล จำนวน 13 ลำ ออกปฏิบัติงาน และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 1,550,000 คืนความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำลงสู่ทะเลกระบี่ เผยผลสำรวจพบว่า ทำให้อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6.6 เท่าจากปีก่อน

วันที่ 28 มีนาคม 2567  กรมประมง…จัดพิธี “ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2567” (ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน) เพื่อปกป้องและคุ้มครองสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร (2.935 ล้านไร่) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2567 โดยภายในงานมีการประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พร้อมปล่อยเรือตรวจประมงทะเล จำนวน 13 ลำ ออกปฏิบัติงาน และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 1,550,000 ตัว เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำลงสู่ทะเลกระบี่โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานในพิธีฯ นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ คณะเจ้าหน้าที่ และประชาชนร่วมกิจกรรม ณ บริเวณท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลกระบี่ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

บัญชา สุขแก้ว

นายบัญชา กว่าวว่า ในปีนี้กรมประมงยังคงใช้มาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ตามประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัด พังงา กระบี่ และตรัง ลงวันที่ 22 มีนาคม 2561 โดยครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2567

เนื่องจาก ผลการประเมินทางวิชาการในปีที่ผ่านมา พบว่าสัตว์น้ำเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์เพศสูงถึงเกือบร้อยละ 100 พร้อมที่จะผสมพันธุ์วางไข่ และพบสัตว์น้ำวัยอ่อนมีความชุกชุมและหนาแน่นสูง โดยเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายนที่มีความหนาแน่นสูงถึง 5,161 ตัว/1,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจถึง 1,335 ตัว/1,000 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการจับสัตว์น้ำรวมจากเรือสำรวจประมงในช่วงมาตรการเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า และหลังมาตรการเพิ่มขึ้นถึง 6.6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมาตรการ (ก่อนมาตรการ 48 กิโลกรัม/ชั่วโมง ระหว่างมาตรการ 110 กิโลกรัม/ชั่วโมง และหลังมาตรการ 317 กิโลกรัม/ชั่วโมง : ข้อมูล ณ วันที่ 28 มีนาคม 2567) รวมถึง สถิติผลการจับสัตว์น้ำของเรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้านทางฝั่งทะเลอันดามัน (เขต 6 และ 7) ในปี 2567 มีปริมาณมากถึง 326,998 ตัน จึงเป็นการยืนยันได้ว่ามาตรการฯ ที่ใช้มีความถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ ทั้งในด้านพื้นที่ ช่วงเวลา และเครื่องมือที่มีการประกาศใช้มาตรการฯ

สำหรับงานในวันนี้ มีการประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการประกาศใช้มาตรการฯ และปล่อยเรือตรวจประมงทะเลออกปฏิบัติงาน จำนวน 13 ลำ และยังมีการมอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านประมง (กิจกรรมพัฒนาอาชีพชุมชนประมง) ประจำปี 2567 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพและฟื้นฟูทรัพยากรประมงให้แก่ชุมชนประมงท้องถิ่น จำนวน 23 กลุ่ม ได้แก่ จังหวัดกระบี่ 10 กลุ่ม จังหวัดตรัง 6 กลุ่ม จังหวัดพังงา 4 กลุ่ม และจังหวัดภูเก็ต 3 กลุ่ม

ทั้งหมดพร้อมคืนความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 1,550,000 ตัว ประกอบด้วย กุ้งกุลาดำ 1,500,000 ตัว และ ปูม้า 50,000 ตัว นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการนำเสนอข้อมูลความรู้ทางการประมงในหัวข้อต่าง ๆ มากมาย อาทิ นิทรรศการนำเสนอมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่เลี้ยงตัวอ่อนพื้นที่ทะเลอันดามัน การเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นนวัตกรรมใหม่จากเกษตรกรกลุ่มเหนือคลอง ขยะทะเลคืนฝั่ง ฯลฯ

“กรมประมงขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ให้ความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามันจะเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำโดยอาศัยความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรประมง มุ่งเน้นการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมประมง กล่าว