กรมประมง ชูกุ้งขาว “ศรีดา 1” ทนโรค รอดตายสูง เจริญเติบโตเร็ว ลดต้นทุน สร้างกำไรได้ดี

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง เร่งพัฒนาสัตว์น้ำพันธุ์ดี ตามแผนในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ล่าสุดได้กุ้งขาว “ศรีดา 1” มีลักษณะเด่นในการทนโรคตายด่วน อัตราการรอดตายสูง เจริญเติบโตดี ช่วยลดต้นทุนการผลิต และสร้างกำไรให้เกษตรกรได้อีกด้วย  

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้มีแผนในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ด้วยการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำพันธุ์ดี จำนวน14 สายพันธุ์ ได้แก่ ปลานิล (จิตรลดา 3, จิตรลดา 4) ปลานิลแดง (เร้ด 1, เร้ด 2, ปทุมธานี 1) ปลาไน (คอม 1) ปลาตะเพียนขาว (ซิลเวอร์ 1 ซี, ซิลเวอร์ 2 เค, ตะเพียนขาวนีโอเมล) ปลายี่สกเทศ (โรห์ 1) ปลานวลจันทร์เทศ (มา 1) ปลาหมอ (ชุมพร 1) กุ้งก้ามกราม (มาโคร 1) และ กุ้งขาวแวนาไม (สิชล 1)

ทั้ง 14 ชนิด ดังกล่าวนี้กรมประมง ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำที่ดูแลสัตว์น้ำแต่ละชนิดในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ทำการศึกษาปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ต้านทานโรค ให้ผลผลิตสูง พร้อมที่จะกระจายพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพไปสู่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง จึงได้จับมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมศึกษาพัฒนาสายพันธุ์กุ้งขาวแวนาไมคุณภาพดี อีก 2 สายพันธุ์ คือ

1.“เพชรดา 1” ซึ่งมีลักษณะเด่นเจริญเติบโตดี และ 2.“ศรีดา 1” มีลักษณะเด่นคือ ทนโรค ซึ่งทั้ง 2 สายพันธุ์ อยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อเตรียมกระจายพันธุ์ไปสู่การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ โดยปัจจุบันได้มีการศึกษาเพาะเลี้ยงในศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ ศูนย์วิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งของกรมประมง รวมถึงฟาร์มเลี้ยงของเกษตรกร

ล่าสุด ในส่วนของสายพันธุ์ “ศรีดา 1” ซึ่งมีลักษณะเด่นในการทนโรคตายด่วน (EMS-AHPND) ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์และดำรงรักษาสายพันธุ์ ภายใต้ระบบป้องกันทางชีวภาพ (Biosecurity) ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช และนำไปเลี้ยงทดสอบในฟาร์มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผลปรากฏว่า มีความทนทานโรค อัตราการรอดตายสูง และเจริญเติบโตดี อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต สร้างกำไรให้เกษตรกรได้อีกด้วย โดยชื่อศรีดา1 (ศรี+ดา) นั้นมีที่มาจากความหมายของพื้นที่ดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์ คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทุนในการวิจัย คือ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) ซึ่งมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Agricultural Research Development Agency หรือ ARDA

ด้าน นางสิริวรรณ หนูเซ่ง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช กรมประมง เปิดเผยถึงรายละเอียดว่า ทางศูนย์ฯ ได้ปรับปรุงพันธุ์กุ้งศรีดา 1 แบบคัดเลือกครอบครัวที่ทนโรค EMS-AHPND โดยค่า LC50 ของการทนโรค EMS-AHPND เท่ากับ 1.47 x 105 เซลล์/มิลลิลิตร กระทั่งสามารถดำรงพันธุ์ถึงรุ่น G8 ขณะนี้กุ้งมีอายุประมาณ 90 วัน ผลิตเป็นพ่อแม่พันธุ์ศรีดา 1 จำนวน 2,000 ตัว ซึ่งมีแผนกระจายพ่อแม่พันธุ์ให้เกษตรกร 1 ราย ใน อ.สทิงพระ จ.สงขลา จำนวน 500 ตัว ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 พ่อแม่พันธุ์ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายให้เกษตรกรที่มีความต้องการเพิ่มเติม และบางส่วนทางศูนย์ฯ จะนำพ่อแม่พันธุ์มาผสมเองเพื่อผลิตลูกพันธุ์ระยะนอเพลียสสำหรับจำหน่าย และนำนอเพลียสมาอนุบาลในโรงเพาะฟักลูกกุ้งของศูนย์ฯ เพื่อจำหน่ายลูกกุ้งระยะ Post larvae ให้เกษตรกร ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2567 ด้วย

ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ ยังได้มีการกระจายลูกพันธุ์กุ้งขาวศรีดา 1 ระยะ Post larvae ไปสู่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง “ก่อเขตฟาร์ม” ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผลการทดสอบในฟาร์มเลี้ยงของเกษตรกรที่เป็นระบบน้ำหมุนเวียนทุกบ่อไหลเวียนทั้งระบบ โดยเลี้ยงลูกกุ้ง PL18 จำนวน 700,000 ตัว บ่อเลี้ยงเป็นแบบ PE ทั้งบ่อ พื้นที่ขนาด 4 ไร่ เลี้ยงด้วยความเค็มน้ำ 7-10 ppt จนกุ้งมีอายุการเลี้ยง 90 วัน พบว่ากุ้งศรีดา 1 มีอัตราการรอดตาย 70.57 เปอร์เซ็นต์, น้ำหนักเฉลี่ย 19.23 กรัม/ตัว หรือ 52 ตัว/กิโลกรัม ผลผลิตที่ได้ทั้งหมด 9.5 ตัน, คิดเป็นประสิทธิภาพพันธุ์ 13.57 ตัน/กุ้ง 1 ล้านตัว อัตราการเจริญเติบโตต่อวัน (ADG) เฉลี่ย 0.21 กรัม/วัน, FCR เท่ากับ 1.29

โดยเกษตรกรใช้ต้นทุนในการผลิตรวม 925,000 บาท สามารถจำหน่ายทำรายได้ถึง 1,615,000 บาท และมีผลกำไร 690,000 บาท (ไม่มีต้นทุนค่าลูกพันธุ์เนื่องจากเป็นบ่อสาธิต) ซึ่งในภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อคุณภาพลูกกุ้งในระดับ มาก ถึง มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับลูกกุ้งสายพันธุ์อื่น ๆ ที่เคยเลี้ยง เนื่องจากกุ้งศรีดา 1 ที่มีความทนทานโรคสูง อัตราการเจริญเติบโตปกติ ผลผลิตดี มีกำไร
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า

นอกจาก กุ้งขาวแวนาไม สายพันธุ์“ศรีดา 1” แล้ว กรมประมงยังมีแนวทางในการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมการศึกษาวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์น้ำอย่างครบวงจร รวมทั้งพัฒนาด้านการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย คือ “เกษตรกรต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในระยะเวลา 4 ปี