“ธรรมนัส” ไฟเขียวคืนสิทธิ์การทำประมงให้เรือประมงพาณิชย์ที่พ้นผิดทางกฎหมาย ทั้งชำรุด จม ไฟไหม้ สูญหาย ยื่นขอรับรองจดทะเบียนใหม่ได้แล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                                  บัญชา สุขแก้ว

ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ได้เฮ!! “ธรรมนัส” สั่งกรมประมงคืนสิทธิ์การทำประมงให้เรือที่พ้นผิดทางกฎหมาย ทั้งเรือชำรุด ไฟไหม้ สูญหาย อับปาง ยื่นขอหนังสือรับรองเพื่อจดทะเบียนเรือประมงพาณิชย์ใหม่ได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2566 โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เห็นชอบให้กรมประมงดำเนินการออกหนังสือรับรองสำหรับจดทะเบียนเรือใหม่ให้กับชาวประมงพาณิชย์ ใน 3 กรณี ได้แก่ 1. เรือประมงที่ได้รับการปลดจากบัญชีเรือประมง IUU list อันเนื่องมาจากได้รับการตัดสินว่าไม่เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายประมง,2. เรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงแล้วต่อมาเรือลำนั้นชำรุดทรุดโทรม,และ 3. เรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงแล้วสูญหาย หรือ ถูกไฟไหม้สิ้นเชิง หรือ อับปาง จนเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือ

ทั้งนี้เพื่อนำไปประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชาวประมงมีเรือที่ใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ที่สำคัญเพื่อเป็นการให้มีโอกาสกลับมาทำประมงได้ดังเดิม และเมื่อเข้าอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง จะได้สิทธิ์จากการช่วยเหลือจากภาครัฐกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมประมงเร่งดำเนินการ เพื่อไม่ให้พี่น้องชาวประมงเสียสิทธิ์ในการประกอบอาชีพประมง

ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยมีเรือประมงพาณิชย์ที่อยู่ในระบบใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ จำนวน 9,310 ลำ โดยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา มีผลผลิตที่ได้จากการทำประมงพาณิชย์มากกว่า 1 ล้านตัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 60,000 ล้านบาท หากเพิ่มโอกาสในการทำประมงให้กับพี่น้องประมงพาณิชย์ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการประมงของประเทศ ภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืนด้วยการกำกับ ควบคุม และดูแลการทำประมงให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (ค่า MSY) ตามข้อกำหนดในมาตรา 19 แห่งพระราชกำหนดการประมง 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ดังนั้น กรมประมงจึงได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทย สำหรับเรือประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2567 เพื่อให้ทันรอบปีการประมงใหม่ (พ.ศ.2567 – 2568) ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 เมษายน 2567 โดยเปิดให้พี่น้องประมงพาณิชย์ยื่นขอหนังสือรับรองได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยชาวประมงสามารถยื่นขอหนังสือรับรองได้จากช่องทางต่างฯ ดังนี้ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานประมงจังหวัด / สำนักงานประมงอำเภอท้องที่มีอาณาเขตติดทะเล หรือ ยื่นผ่านช่องทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล)

สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะขอหนังสือรับรองจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1. ไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะได้รับใบอนุญาตทำการประมง ตามมาตรา 39 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558,2. ไม่เป็นเจ้าของเรือที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือ IUU list,3. ไม่เป็นผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์หรือบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

นอกเหนือจากคุณสมบัติข้างต้นแล้ว ผู้ขอหนังสือรับรองจะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมตามแต่กรณี ดังนี้คือ กรณีเรือชำรุดทรุดโทรม ต้องเป็นเจ้าของเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์,  กรณีเรือประมงสูญหายไป ถูกไฟไหม้โดยสิ้นเชิง หรืออับปาง จนเป็นเหตุให้กรมเจ้าท่าเพิกถอนทะเบียนเรือ ต้องเป็นเจ้าของเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์, และ กรณีเรือประมงเคยถูกขึ้นบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเป็นเจ้าของเรือที่ได้รับแจ้งยกเลิกบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เอกสารหลักฐานประกอบการขอหนังสือรับรอง มีดังนี้1. แสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง,2. กรณีเป็นนิติบุคคล : สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล อายุไม่เกิน 3 เดือน,3. กรณีมอบอำนาจ : หนังสือมอบอำนาจ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้รับมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ,4. กรณีกรมเจ้าท่าเพิกถอนทะเบียนเรือ แนบเอกสารที่แสดงการเพิกถอนทะเบียนเรือ,5. กรณีเรือเคยถูกขึ้นอยู่ใน IUU list : แนบเอกสารที่แสดงถึงการถูกปลดจาก IUU list,6. ภาพถ่ายเรือประมง (กรณีมีเรือ) จำนวน 2 รูป คือ ภาพเรือเต็มลำด้านซ้าย 1 รูป และ ภาพเรือเต็มลำด้านขวา 1 รูป ถ้ากรณีเรือประมงที่ชำรุดทรุดโทรมจะต้องแนบภาพถ่ายของเรือลำที่ชำรุด 3 รูป คือ ภาพเรือเต็มลำด้านซ้ายหรือขวา 1 รูป ภาพหัวเรือที่เห็นชื่อเรือ ทะเบียนเรือ เครื่องหมายประจำเรือ ด้านซ้ายหรือขวา 1 รูป และภาพอัตลักษณ์เรือที่เห็นชัดเจน จำนวน 1 รูป

“ขณะนี้กรมประมงได้เปิดคลินิกประสานงานการขอรับอนุญาตทำการประมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้พี่น้องชาวประมงสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น โดยสามารถสแกน QR-Code เข้าร่วมกลุ่มไลน์ได้ หรือ ติดต่อสอบถามเพิ่มได้ที่กลุ่มทะเบียนและอนุญาตทำการประมง กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง โทร.02-561-2341 , 082-649-7981 , 064-695-3360 , สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานประมงอำเภอที่มีอาณาเขตติดทะเล หรือ line: คลินิกประสานงานการขอรับหนังสือรับรองและใบอนุญาตทำการประมง” อธิบดีกรมประมง กล่าว