กรมประมงระดมเรือประมง 23 ลำ เปิดปฏิบัติการล่า “ปลาหมอสีคางดำ” นำร่อง 5 จังหวัด พร้อมปล่อยพันธุ์ปลานักล่าเหยื่อเป็น “ปลากะพงขาว” 60,000 ตัว ช่วยไล่งาบกินเป็นอาหารตามวิถีธรรม หวังควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติและกำจัดวงจรระบาดให้สิ้นซาก หลังพบว่าการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำกว่า 13 จังหวัด
วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน “เปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ” มอบธงสัญลักษณ์ พร้อมปล่อยขบวนเรือชาวประมงออกปฏิบัติการ 23 ลำในแม่น้ำท่าจีน และปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาว 60,000 ตัว ณ วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม
สำหรับการเปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในครั้ง มีพร้อมกันๆในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำได้ดี ทำให้พบการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำกว่า 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ระยอง ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และสมุทรสาครที่มีการระบาดอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรและชาวประมง เมื่อครั้งลงพื้นที่เพื่อรับฟังและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดสมุทรสาคร จึงกำหนดให้เป็นวาระสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะต้องมีมาตรการจัดการขั้นเด็ดขาดเพื่อปกป้องผลผลิตสัตว์น้ำของเกษตรกรและทรัพยากรประมงของประเทศ
ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมประมงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำขึ้น เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหา รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการสร้างความตระหนักรู้แก่เกษตรกร ชาวประมงและบุคคลทั่วไปในวงกว้าง
กรมประมงจึงจัดงานดังกล่าวขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายชาวประมงและเกษตรกรในการกำจัดปลาหมอสีคางดำด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ร่วมกับการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ในแหล่งน้ำที่พบการแพร่ระบาดเพื่อควบคุมและลดจำนวนประชากรปลาหมอสีคางดำขนาดเล็กที่พบในธรรมชาติและมีการหลุดรอดเข้าไปในบ่อเลี้ยงของเกษตรกร
ภายในงานวันนี้มีการมอบธงสัญลักษณ์ให้แก่ชาวประมงเรืออวนรุนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประมงจังหวัดแล้ว ทั้งหมด 23 ราย และปล่อยขบวนเรืออวนรุนที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อออกปฏิบัติการในแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสาธิตวิธีการใช้อวนรุนในการกำจัดปลาหมอสีคางดำา “อวนรุน” จะเป็นเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการทำการประมงสูง ได้ถูกจัดเป็นเครื่องมือประมงที่ห้ามใช้หรือมีไว้ในครอบครองตามมาตรา 67 (4) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ
ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือบางประเภททำการประมง พ.ศ. 2567 โดยผ่อนผันให้ใช้อวนรุนขนาดคันรุนยาวไม่เกิน 16 เมตร ห้ามติดโซ่แต่ให้มีการถ่วงน้ำหนักได้ด้วยการติดตัวถ่วงน้ำหนักที่แนบกับเชือกคร่าวล่าง ขนาดตาอวนตลอดผืนต้องไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร ในการกำจัดปลาหมอสีคางดำเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ พื้นที่บริเวณริมทะเลชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน คลองสุนัขหอน และคลองพิทยาลงกรณ์เท่านั้น
นายบัญชา กล่าวอีกว่า การทำประมงนั้นจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย โดยมีคณะกรรมการประมงจังหวัดวางแผนกำกับติดตาม และรายงานผลการดำเนินการให้กรมประมงทราบ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ตามประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดชนิดเครื่องมือ รูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง และเงื่อนไข ที่อนุญาต ผ่อนผันให้ใช้ทำการประมง พ.ศ. 2567
นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีการปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 40,000 ตัว พร้อมกันในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดผ่านระบบออนไลน์ ได้แก่ 1. วัดลาดเป้ง ตำบลนางตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม 2. ประตูน้ำบ้านคลองสวน ตำบลบ้านคลองสวน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 3. ท่าเทียบเรือประมงคลองอีแอด ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และ 4. วัดประชาบำรุง แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
คู่ขนานไปกับการปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวอีก 20,000 ตัว ในงาน Kick off ที่จัดขึ้น ณ วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ร่วมด้วยกิจกรรมการมอบหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 5 ราย ตลอดจนการจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านชีววิทยาปลาหมอสีคางดำ การสาธิตการใช้ประโยชน์จากปลาหมอสีคางดำในรูปแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปเมนูไส้อั่วปลาหมอสีคางดำ และเครื่องมือประมงเพื่อกำจัดปลาหมอสีคางดำอีกด้วย
ไส้อั่วปลาหมอสีคางดำ
เนื่องด้วยปัญหาการรุกรานของปลาหมอสีคางดำเป็นปัญหาที่สำคัญ กรมประมงยังได้มีการจัดทำร่างมาตรการและการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดประชากรปลาหมอสีคางดำ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยการควบคุมการรุกรานของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ที่พบมีการรุกรานแล้ว พร้อมติดตามประเมินและป้องกันการรุกรานของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ที่ยังไม่ถูกรุกราน อีกทั้งยังได้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานเปิดปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำทั้งในบ่อเกษตรกรและแหล่งน้ำธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สามารถฟื้นฟูและบริหารจัดการระบบนิเวศให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน เพื่อยังประโยชน์ให้กับชุมชนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เกิดความมั่นคงของทรัพยากรประมงในพื้นที่ต่อไป