ไทยหนึ่งเดียวในโลก CITES ไฟเขียวขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะพันธุ์-ส่งออกปลายี่สกไทย-ปลาบึก พร้อมรับรอง 29 ฟาร์มเพาะจระเข้น้ำจืด

  •  
  •  
  •  
  •  

มีข่าวดีอีกแล้ว CITES รับรอง 29 ฟาร์มเพาะจระเข้น้ำจืดไทย สามารถส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 7,000 ล้านบาท พร้อมอนุญาตขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะพันธุ์-ส่งออกปลายี่สกไทย – ปลาบึก ประเทศแรกของโลกอีกด้วย

วันที่ 9 มกราคม 2567  ได้มีพิธีมอบหนังสือแสดงการขึ้นทะเบียนสถานที่สามารถเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อการค้าระหว่างประเทศกับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES ให้กับฟาร์มและหน่วยงานที่ดำเนินการเพาะพันธุ์เพื่อส่งออก ณ ห้องประชุมยี่สก อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง ได้แก่ ฟาร์มจระเข้น้ำจืด จำนวน 1 ฟาร์ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด (เพาะพันธุ์ปลาบึกและปลายี่สกไทย) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมประมง จำนวนทั้งสิ้น 6 แห่ง นอกจากจะเป็นการสนับสนุนในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำดังกล่าวแล้ว นับเป็นการขยายโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศต่อไป

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และการค้าสัตว์ป่าในเชิงพาณิชย์ภายใต้ข้อกำหนดของอนุสัญญา CITES ช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจ ผ่านกลไกการควบคุมการค้าระหว่างประเทศทำให้การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาดังกล่าว โดยเฉพาะการสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอย่างถูกกฎหมายให้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีศักยภาพได้

ทั้งนี้จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม ปลาตะพัด ปลายี่สกไทย และปลาบึก จัดเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่อยู่ท้ายอนุสัญญา CITES ในบัญชีที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์และห้ามทำการค้าในเชิงพาณิชย์ แต่อนุสัญญาได้มีข้อกำหนดว่า หากสัตว์น้ำนั้นสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในที่เลี้ยง และได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักเลขาธิการ CITES จะสามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้

สำหรับจระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) กรมประมงได้พยายามดำเนินการผลักดันและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทยในการเพาะเลี้ยงจระเข้น้ำจืด เนื่องจากธุรกิจการค้าจระเข้ในต่างประเทศมีความเติบโตและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จัดเป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในทุกส่วนของอวัยวะ เช่น เลือด เนื้อ หนัง กระดูก ไขมัน ฯลฯ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ประเทศไทยได้เริ่มขึ้นทะเบียนกับสำนักเลขาธิการ CITES

ปัจจุบันมีผู้เพาะพันธุ์จระเข้ไทยได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักเลขาธิการ CITES จำนวน 29 แห่ง สร้างรายได้จากส่งออก มูลค่ามากกว่า 7,000 ล้านบาท จากการซื้อ – ขายจระเข้มีชีวิต เนื้อจระเข้ ไข่จระเข้ และหนังจระเข้ในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากศักยภาพการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยในฟาร์ม มีการขึ้นทะเบียนทั้งฟาร์มขนาดเล็กและฟาร์มขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวมทั้งมีธุรกิจต่อเนื่องในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับใบอนุญาตให้มีการเพาะพันธุ์จระเข้เพื่อการค้าและส่งออกมากที่สุดในทวีปเอเชีย

ล่าสุด เมื่อปลายปี พ.ศ. 2566 ฟาร์มลำดับที่ 29 สำนักเลขาธิการ CITES ได้พิจารณาอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะพันธุ์เพื่อการค้าระหว่างประเทศ ชนิดพันธุ์ จระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) ให้แก่ ฟาร์ม Fluke and Fern Crocodile ของ นางจรีพร โชติรัตน์ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงที่เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญา และเป็นฟาร์มที่มีการดำเนินการแบบครบวงจร อีกทั้งยังก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในพื้นที่ ก่อให้เกิดรายได้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน

ในส่วนของ ปลาบึก และปลายี่สกไทย ในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะพันธุ์เพื่อการค้าระหว่างประเทศจากสำนักเลขาธิการ CITES และเป็นประเทศแรกของโลก เนื่องจากได้รับการพิจารณาว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงหรือเพาะพันธุ์อย่างมากและเป็นที่ต้องการของตลาดระหว่างประเทศ โดยมีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่1. ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเลย,2. ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี,3. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอุดรธานี
4. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดหนองคาย,5. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดพระนครศรีอยุธยา,และ6. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดราชบุรี

นายบัญชา กล่าวอีกว่า  นับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่กรมประมงจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเหล่านี้ได้มากขึ้น และสนับสนุนผู้ที่สนใจสามารถหาแนวทางในการสร้างรายได้ต่อไป โดยในปี พ.ศ. 2567 กรมประมงมีแนวทางในการช่วยผลักดันให้ผู้ที่ประสงค์จะทำการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์น้ำท้ายอนุสัญญา CITES บัญชี 1 มีมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเชิงบวกต่อผู้ประกอบการไทย และภาคธุรกิจส่งออกสัตว์น้ำของไทยได้ในอนาคต