ไทยประกาศชัด หนุนเต็มที่กิจกรรม NACA รัฐสมาชิก หวังพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

  •  
  •  
  •  
  •  

ไทยประกาศชัด บนเวทีการประชุม The 32nd NACA Governing Council Meeting เปิดเวทีให้ 18 รัฐสมาชิกและภาคีเครือข่าย พร้อมสนับสนุนกิจกรรม NACA รัฐสมาชิก และองค์กรพันธมิตรของ NACA อย่างเต็มกำลังความสามารถ หวังให้เกิดการพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในภูมิภาค เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรรัฐสมาชิก และก่อให้เกิดการเติบโตในด้านเศรฐกิจและสังคม

วันที่ 7 สิงหาคม  2566 ประเทศไทยโดยกรมประมงร่วมกับ Network of Aquaculture Centres in Asia – Pacific (NACA) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะมนตรีองค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 32 (The 32nd NACA Governing Council Meeting : NACA GCM) ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2566 เปิดเวทีให้ 18 รัฐสมาชิกและภาคีเครือข่าย ร่วมกำหนดทิศทางและนโยบายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมให้คำมั่นในการพัฒนาเครือข่ายงานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า Network of Aquaculture Centres in Asia – Pacific (NACA) หรือองค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือภาคีสมาชิกในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และมีเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ ปรับปรุงรายได้ และการจ้างงาน สร้างความเข้มแข็งในการผลิตระดับฟาร์ม สำหรับสมาชิก NACA ประกอบด้วย รัฐสมาชิกจำนวน 18 รัฐ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐมัลดีฟส์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และยังมีองค์กรพันธมิตรที่ร่วมเป็นภาคี

ประกอบด้วย Asia – Pacific Association of Agricultural Research Institutions (APAARI), Network of Aquaculture Centres in Central and Eastern Europe (NACEE), Food and Agriculture Organization (FAO), Secretariat of the Pacific Community (SPC) เป็นต้น นอกจากนี้ NACA ยังได้จัดตั้งศูนย์หลักในการดำเนินการวิจัย (Regional Lead Centre: RLC) ในรัฐสมาชิก จำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และสำหรับประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดพระนครศรีอยุธยา กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง

สำหรับการจัดการประชุม NACA Governing Council Meeting (NACA GCM) นี้ ได้กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 32 โดยกรมประมงได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพร่วมกับ NACA และการประชุมครั้งนี้เป็นการร่วมกำหนดทิศทางและนโยบายตามแนวทางปฏิบัติด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของ FAO เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับรัฐสมาชิก และองค์กรพันธมิตร ได้นำไปขยายและกำหนดกิจกรรมภายใต้นโยบายด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การจัดทำเอกสาร Aquaculture Transformation – Innovation and investment for sustainable intensification and expansion of aquaculture in Asia and the Pacific region

เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในภูมิภาค ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ และการดำเนินการตามแนวทางการจัดการความเสี่ยงเชิงรุก ภายใต้ความร่วมมือกับ FAO เรื่อง Progressive Management Pathway for Aquaculture Biosecurity (PMP/AB) ซึ่งนำไปสู่การจัดทำ Regional Strategy for Aquaculture Biosecurity เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายระดับชาติที่มีความสอดคล้องกันในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดห่วงโซ่คุณค่า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนในภูมิภาค

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า ประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิก และเป็น Regional Lead Centres จะให้การสนับสนุนกิจกรรม NACA รัฐสมาชิก และองค์กรพันธมิตรของ NACA อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในภูมิภาค อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรรัฐสมาชิก และก่อให้เกิดการเติบโตในด้านเศรฐกิจและสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์และมั่นคงในการพัฒนาเครือข่ายงานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนมากยิ่งขึ้นต่อไป