เชิญร่วมประกวดปลาสวยงาม-การจัดตู้พรรณไม้น้ำ ชิงถ้วยพระราชทานฯ ในงานวันประมงน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 33

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง ขอเชิญผู้สนใจร่วมประกวดปลาสวยงามและการจัดตู้พรรณไม้น้ำ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีฯ และรางวัลเกียรติยศ ในงานวันประมงน้อมเกล้า ครั้งที่ 33 การันตีด้วยมาตรฐานการประกวดที่ดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า งานวันประมงน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 33 จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมประมง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ รวมถึงภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2566 นี้ ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ จังหวัดปทุมธานี ภายในงานนอกจากจะมีการจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ นิทรรศการ และกิจกรรมการเผยแพร่ความรู้ด้านต่าง ๆ แล้ว ยังมีการจัดประกวดปลาสวยงามและการจัดตู้พรรณไม้น้ำ เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรในการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำที่ดี มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และสามารถนำไปแข่งขันในตลาดโลกได้ ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ประพันธ์ ลีปายะคุณ

โดยการประกวดมีรายละเอียด ดังนี้คือการประกวดปลาสวยงาม สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 14 มิถุนายน 2566 : มีการประกวดทั้งหมด 7 ชนิด 75 ประเภท ได้แก่

1. ปลากัด แบ่งเป็น 4 กลุ่ม 29 ประเภท ได้แก่ ปลากัดครีบสั้น 13 ประเภท, ปลากัดครีบยาว 5 ประเภท, ปลากัดป่า 5 ประเภท และปลากัดกลุ่มพิเศษ 6 ประเภท

2. ปลาหางนกยูง แบ่งเป็น 13 ประเภท ได้แก่ โมเซค (Mosaic), ทักซิโด้ (Tuxedo/Half black) , กราซ (Grass) , คอบบร้า/สเนคสกิน (Cobra or Snake skin), แบล็คเฮด (Black Head), อัลบิโน่ (Albino), อัลบิโน่ ฟูลเรด (Albino Full red), ริบบอน (Ribbon) /สวอลโล (Swallow), โซลิดคัลเลอร์ (Solid), รวมสายพันธุ์หางเล็ก (ลักษณะที่ไม่จัดอยู่ใน 9 สายพันธุ์ข้างต้น), รวมสายพันธุ์หางใหญ่ (ลักษณะที่ไม่จัดอยู่ใน 10 สายพันธุ์ข้างต้น), Juvenile Solid และ Juvenile Pattern

3. ปลาทอง แบ่งเป็น 5 สายพันธุ์ 2 รุ่น 10 ประเภท ได้แก่ สิงห์รวมสายพันธุ์รุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก, ออรันดาหัววุ้นรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก, ริวกิ้นรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก, สิงห์ดำตามิด, รวมทุกประเภทหาง (หยวนเป่า,ออรันดาหางสั้น, สิงห์กระโดง), สิงห์คาริโกะ (Calico) รวมทุกประเภทสี (ขาวดำ ซากุระ อาปาเช่ สิงห์ดำตาเปิด) และปลาทองรวมทุกสายพันธุ์ (เฉพาะที่ไม่จัดอยู่ในประเภทที่กล่าวข้างต้น)

4. ปลาหมอสี แบ่งเป็น 7 ประเภท ได้แก่ Aulonocara Red Peacock/ Ruby Red, Aulonocara OB รวมสายพันธุ์, Aulonocara Pink Peacock/ Golden Peacock รวมสายพันธุ์, Aulonocara รวมสายพันธุ์ (Original) ตาดำ, Aulonocara Butterfly ตาดำ, Non-Mbuna Albino รวมสายพันธุ์/ Hybrid และ Non-Mbuna รวมสายพันธุ์/ Hybrid

5. ปลาหมอครอสบรีด แบ่งเป็น 7 ประเภท ได้แก่ ฟลาวเวอร์ฮอร์น (Flower horn) เฉพาะขอบตาแดงเท่านั้น (ขนาดไม่เกิน 6 นิ้ว, 6 – 7.5 นิ้ว, 7.5 นิ้ว), ปลาหมอครอสบรีดตัวสั้น (Short Body) รวมทุกสายพันธุ์, ปลาหมอครอสบรีด รวมทุกสายพันธุ์ (Open) (ขนาดไม่เกิน 5 นิ้ว, 5 นิ้วขึ้นไป), และปลาหมอครอสบรีด (Golden Base) เฉพาะปลาลอก รวมทุกสายพันธุ์ (เฉพาะที่ไม่จัดอยู่ในประเภทที่กล่าวข้างต้น)

6. ปลาปอมปาดัวร์ แบ่งเป็น 7 ประเภท ได้แก่ Blue Class, Red Class, Spotted, Striped Pigeon Blood, Striped Turquoise, Albino และ Open (ทุกสายพันธุ์ที่ไม่จัดอยู่ในประเภทที่กล่าวข้างต้น)

7. ปลาเอเซียนอโรวาน่า แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ อโรวาน่าสีทองทุกสายพันธุ์ และอโรวาน่ารวมทุกสี ทุกสายพันธุ์ ยกเว้นสีทอง

การจัดตู้พรรณไม้น้ำ สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 9 มิถุนายน 2566 : มีการจัดประกวดทั้งหมด 2 ประเภท ได้แก่

1. การจัดตู้พรรณไม้น้ำเลียนแบบธรรมชาติ ประเภทนักเรียน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย,2. การจัดตู้พรรณไม้น้ำ ประเภทประชาชนทั่วไป

ดังนั้นจึงขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจสมัครเข้าร่วมการประกวดได้ตามรายละเอียด QR code ด้านล่าง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง โทรศัพท์ 0 2579 1862 หรือ Facebook : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ