กรมประมงออกประกาศฉบับใหม่ บังคับใช้ “ฤดูน้ำแดง 2566” เริ่มเลย 16 พ.ค.นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมงออกประกาศฉบับใหม่ บังคับใช้ช่วง “ฤดูน้ำแดง 2566”  เน้นปรับให้เหมาะสมกับข้อมูลชีววิทยาของสัตว์น้ำจืด ด้วยการให้อำนาจคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดปรับพื้นที่ – เครื่องมือได้ตามความเหมาะสม หวังคุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ทั่วประเทศ เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่วันที่  16 พฤษภาคม ยันถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 แบ่งเป็น 3 ระยะในพื้นที่ทั่วประเทศ เผยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปีนี้ทางกรมประมงได้ออกประกาศฉบับใหม่ “ฤดูน้ำแดง 2566” มาบังคับใช้ช่วงฤดูน้ำแดง คือเป็นระยะเวลาที่น้ำในแม่น้ำลำคลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปริมาณน้ำฝนลงมา  ชะล้างหน้าดินและพัดพาตะกอนธาตุอาหารต่าง ๆ ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำกลายเป็นสีแดง ที่กระตุ้นให้สัตว์น้ำมีการผสมพันธุ์ และวางไข่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณ ประชากรสัตว์น้ำให้แก่แหล่งน้ำ

ประกาศฉบับใหม่ให้อำนาจคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดปรับพื้นที่ การใช้เครื่องมือได้ตามความเหมาะสม ถือเป็นมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ ด้วยการกำหนดให้ใช้เครื่องมือ วิธีการทำประมงที่ไม่เป็นการทำลายพันธุ์ทรัพยากรสัตว์น้ำจืด และเป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้จับสัตว์น้ำเพื่อการดำรงชีพให้สามารถจับสัตว์น้ำจืดในช่วงเวลาการบังคับใช้มาตรการทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้มีการฟื้นตัว และเกิดขึ้นใหม่เข้าทดแทนสัตว์น้ำเดิมที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ และดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้จากการติดตามประเมินผลมาตรการฤดูน้ำแดงในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (2564 – 2565) ที่ผ่านมาครอบคลุมพื้นที่ 20 ลุ่มน้ำ 49 จังหวัด 72 แหล่งน้ำ 126 จุดเก็บตัวอย่าง รวมตัวอย่างปลาทั้งหมด 175 ชนิด พบว่า ปลาส่วนใหญ่วางไข่เกือบทั้งปี โดยผลสำเร็จจากการออกประกาศฯ ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2564 – 2565) สามารถรักษาพ่อแม่พันธุ์ในภาพรวมของประเทศไทยได้มากถึงร้อยละ 59.9 ซึ่งปริมาณพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ มีความใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ผ่านมาส่งผลให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดมีโอกาสได้สืบพันธุ์วางไข่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

                                                                                        เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า การกำหนดพื้นที่ ระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง เงื่อนไขในการทำการประมง ประจำปี 2566 แบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกเป็น 3 ระยะ ตามความเหมาะสมของระบบนิเวศน์แต่ละพื้นที่ โดยกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ในห้วงเวลาและพื้นที่ ดังต่อไปนี้

• ระยะที่ 1 : วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 สิงหาคม 2566 และ วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 สิงหาคม 2567 : ในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามแผนที่ท้ายประกาศ

• ระยะที่ 2 : วันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2566 และ วันที่ 1 มิถุนายน 2567 – 31 สิงหาคม 2567 : ในพื้นที่ 39 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี สระบุรี นครปฐม นนทบุรีกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เว้นแต่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำป่าว จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้อยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาตาม ระยะที่ 1

• ระยะที่ 3 : วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2566 และ วันที่ 1 กันยายน 2567 – 30 พฤศจิกายน 2567: ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา

ในส่วนของเครื่องมือ วิธีการทำการประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ มีดังนี้ 1. เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวงที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน,2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่ 3 เครื่องมือขึ้นไป,3. สุ่ม ฉมวก และส้อม,4. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน,5. แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร)

อย่างไรก็ตาม กรณีที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนดมาตรการอนุรักษ์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยห้ามทำการประมงที่ใช้เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใด ตามวรรคหนึ่ง 1 – 5 ให้ถือปฏิบัติตามประกาศนั้นด้วย, และ 6. การทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย ทดลองทางวิชาการ หรือในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการของทางราชการ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง นอกจากนี้ กรมประมงยังประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ให้เข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์น้ำ สร้างจิตสำนึกในการหวงแหนอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน ทั้งนี้ เนื่องจากการกำหนดฤดูปลาวางไข่ในช่วงฤดูน้ำแดงนั้น เป็นหนึ่งในมาตรการที่ใช้ควบคุมการทำการประมงเพื่อลดการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำตามกฎหมายเท่านั้น อย่างไรก็ตามการอนุรักษ์ทรัพยากรที่แท้จริงต้องเริ่มที่จิตสำนึกของประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ และการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่รู้จักใช้ ร่วมกันดูแลและรักษาไว้ให้มีอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานของตนต่อไป