เลี้ยง”ปลาเผาะ”แก้หนี้อาชีพเสริมรายได้ดีที่ริมฝั่งโขง ราคาดี มีตลาดแน่นอน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชูหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัด แก้ไขปัญหาหนี้ด้วย “การเลี้ยงปลาเผาะ” ในกระชังริมแม่น้ำโขง เกษตรกรเผยรายได้ดีกว่าเลี้ยงปลาชนิดอื่น แม้ใข้ระเวลานานถึง 1 แต่คุ้มราคาดี ตลาดต้องการสูง แค่เริ่มเลี้ยงมีการจองยกกระชังแล้ว ทำให้สามารถปลดหนี้ได้

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ เพื่อติดตามการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดนครพนม เมื่อต้นพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเยี่ยมชมความสำเร็จ “การเลี้ยงปลาเผาะ” แก้หนี้ของสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัด ที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัดได้ส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิก ซึ่งจะเห็นว่าการดำเนินการสามารถทำได้เป็นอย่างดี ทำให้สมาชิกมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรรายอื่น ๆ ด้วย

สำหรับสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิก 349 ราย ดำเนินธุรกิจ 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจเงินรับฝาก ทั้งนี้ ในปี 2565 กรมส่งเสริมสหกรณ์ สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ จำนวน 2.4 ล้านบาท และปี 2566 วงเงิน 2 ล้านบาท รวมทั้งได้สนับสนุนอุปกรณ์การตลาด ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการประมงการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร


ด้านนางอนงนุช สาโท สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัด มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังริมฝั่งโขงในท้องที่บ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม เล่าว่า เดิมมีอาชีพทำนาจากนั้นหันมาเลี้ยงปลาในกระชังริมฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากเห็นว่าทำรายได้ดี โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากสหกรณ์ฯ เริ่มจากการเลี้ยงปลาเผาะ ปลานิล ปลาตะเพียนและปลาดุก แต่ที่ทำเงินมากที่สุดก็คือปลาเผาะ ซึ่งเป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันมากใน จ.นครพนมและพื้นที่ใกล้เคียงที่ติดแม่น้ำโขง

“ปลาเผาะต้นทุนการเลี้ยงน้อยกว่าปลานิล ให้อาหารวันละมื้อ เสริมด้วยไส้ไก่ ไขมันวัวต้ม เริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 49 แต่ก่อนทำนา ข้อดีเลี้ยงปลาคือมีรายได้ทุกวันทุกเดือนหรือแล้วแต่เราจะกำหนด ตอนนี้มีเลี้ยงอยู่ 14 กระชัง เป็นปลาเผาะ 9 กระชังที่เหลือเป็นปลานิล ปลาตะเพียนและปลาดุก” นางอนงนุช กล่าว

แม้ปลาเผาะจะระยะเวลาการเลี้ยงนานประมาณ 1 ปีกว่าจะได้น้ำหนัก 1.8-2.0 กิโลกรัม แต่เธอยอมรับว่าคุ้มค่ากว่าปลาชนิดอื่น เหตุต้นทุนต่ำ ขายราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งยังได้รับความนิยมของผู้บริโภคอีกด้วย ส่วนลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหาร ร้านจิ้มจุ่มในจ.นครพนมมาจองมาซื้อยกกระชัง อย่าง 9 กระชังที่เลี้ยงก็มีจองเกือบหมดแล้ว

ขณะที่นางสมบัติ อุผา ประธานคณะกรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัดยอมรับว่า ทุกวันนี้สหกรณ์เกือบจะไม่มีหนี้ค้างจ่าย(ผิดนัดชำระ)จากสมาชิก แต่จะเป็นหนี้ค้างชำระตามรอบปกติ แม้ว่าบางรายจะได้รับความเสียหายจากการเลี้ยงปลาจนขาดทุน เหตุปลาเป็นโรคหรือเกิดจากภัยธรรมชาติ แต่สมาชิกก็จะพยายามหาเงินมาคืนจนได้

“สหกรณ์ก็จะให้บริการอาหารปลา หรือถ้ารายใดต้องการกู้เงินสหกรณ์เพื่อซ่อมกระชังปลา ก็สามารถกู้ได้รายละ 30,000-50,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของสมาชิก ส่วนเรื่องการตลาดไม่มีปัญหา เพราะมีคนมาซื้อถึงฟาร์มเลี้ยง จนทุกวันนี้ก็ยังไม่พอขาย ขณะที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนมก็จะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ1 ปีละ 2 ล้านให้สหกรณ์เพื่อนำไปปล่อยกู้แก่สมาชิก แล้วพาสมาชิกไปอบรมดูงาน” นางสมบัติ กล่าว