บัญชา สุขแก้ว
กรมประมง เร่งประชาสัมพันธ์ชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกหนังสือรับรองประกอบการขอจดทะเบียนเรือประมง ตั้งแต่ขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป ที่จะทำการประมงนอกน่านน้ำไทยให้ผู้ประกอบการทราบ โดยกรมประมงจะเปิดให้ยื่นคำขอรับหนังสือรับรองฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไปผ่านทางช่องทาง E-mail ของทางสำนักงานประมงจังหวัดชายทะเลทั้ง 22 จังหวัด และสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพ หรือ ติดต่อที่หน่วยงานโดยตรง สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง โทร. 0 2561 2341 ในวันและเวลาราชการ
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้มีการงดจดทะเบียนเรือประมงพาณิชย์ทุกประเภทเป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมจำนวนเรือประมงที่มีศักยภาพในการทำการประมงในน่านน้ำไทยไม่ให้มีการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์มากเกินกำลังการผลิตตามธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา แต่อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมและพัฒนาการทำประมงนอกน่านน้ำไทย ด้วยการเพิ่มจำนวนเรือเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากการจับสัตว์น้ำตามที่ประเทศไทยได้รับการจัดสรรจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tuna Commission: IOTC) และความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement: SIOFA) ภายใต้องค์กรการบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organization: RFMO) รวมถึงการทำประมงในเขตรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก
กรมประมงจึงออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงพาณิชย์เพื่อทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ.2566 ขึ้น เพื่อรองรับประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การงดจดทะเบียนเรือประมงเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2565 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนเรือประมงพาณิชย์เพื่อทำการประมงนอกน่านน้ำไทยได้ แต่จะต้องใช้หนังสือรับรองจากกรมประมงประกอบการจดทะเบียน ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ กรมประมงจึงเปิดให้ยื่นคำขอรับหนังสือรับรองฯ ผ่านทางช่องทาง E-mail ของทางสำนักงานประมงจังหวัดชายทะเลทั้ง 22 จังหวัด และสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพ โดยมีเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการขอหนังสือรับรองฯ ดังนี้
1. ผู้ที่จะได้รับหนังสือรับรอง
1.1 ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 39 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
1.2 ต้องไม่เป็นเจ้าของเรือที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือที่ใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยการประมง และไม่เป็นผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์หรือบังคับใช้แรงงานหรือบริการ
1.3 มีฐานะทางการเงินที่เพียงพอในการทำการประมงนอกน่านน้ำไทย โดยมียอดเงินฝากไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรือมีหลักทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
2. เรือที่จะได้รับหนังสือรับรอง
2.1 ต้องมีขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป
2.2 ต้องไม่เป็นเรือที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยการประมง และไม่เคยถูกใช้ในการกระทำความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงตามกฎหมาย
ว่าด้วยการประมง และความผิดที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
2.3 ต้องไม่อยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดี
2.4 กรณีเรือต่างชาติ จะต้องเป็นเรือที่เคยจดทะเบียนกับประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไม่ใช่ประเทศไทยและไม่เคยถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของประเทศที่เคยจดทะเบียนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ยื่นขอ
2.5 กรณีเป็นเรือที่ต่อขึ้นใหม่ ต้องเป็นเรือที่ต่อสร้างภายหลังจากได้รับหนังสือรับรอง
3. ในการไปทำประมงนอกน่านน้ำการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำต้องมีความสอดคล้องกับสิทธิทำการประมง หรือ ขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน ดังนี้
3.1 การทำประมงในเขตรัฐชายฝั่งอื่นต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงการได้สิทธิในการทำการประมงในน่านน้ำของรัฐชายฝั่งซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐชายฝั่งนั้น
3.2 การทำประมงในเขตพื้นที่ SIOFA / IOTC ต้องไม่เกินสิทธิทำการประมงที่ประเทศไทยได้รับการจัดสรร
3.3 การทำประมงในเขตทะเลหลวงที่ควบคุมดูแลโดยองค์กรระหว่างประเทศ จะต้องเป็นองค์กรฯ ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก
3.4 เรือที่จะขอหนังสือรับรองต้องใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ขัดต่อข้อกำหนดและเงื่อนไขของรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศ
สำหรับผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะยื่นขอหนังสือรับรองฯ ต้องเตรียมเอกสาร/หลักฐาน ดังนี้
1) คำขอรับหนังสือรับรอง (แบบ นสร.07)
2) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและวัตถุประสงค์ มีอายุไม่เกิน 3 เดือน (กรณีเป็นนิติบุคคล)
3) หนังสือมอบอำนาจ บัตรประชาชนตัวจริงของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมสำเนาประชาชนผู้มอบอำนาจ (กรณีมีการมอบอำนาจ)
4) สำเนาเอกสารใบจดทะเบียนเรือเดิม (กรณีเป็นเรือเคยมีทะเบียนเรือ)
5) สำเนาเอกสารแสดงสิทธิในการทำการประมงในน่านน้ำของรัฐชายฝั่ง
6) ภาพถ่ายของเรือปัจจุบัน ถ่ายไม่เกิน 3 เดือน (กรณีเป็นเรือเคยมีทะเบียน) : ภาพถ่ายหัวเรือ 1 รูป / ภาพถ่ายเรือเต็มลำด้านขวา-ซ้าย ด้านละ 1 รูป / ภาพถ่ายด้านท้ายเรือ 1 รูป
7) หนังสือรับรองตนเอง กรณีเรือที่จะขอจดทะเบียนฯ เคยถูกใช้กระทำความผิด
8) เอกสารรับรองจากประเทศที่เรือเคยจดทะเบียน แสดงว่าไม่เคยถูกใช้เป็นเรือที่ทำผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ การยื่นคำขอออกหนังสือรับรองฯ สามารถดำเนินการได้ใน 2 ช่องทาง คือ (1) ช่องทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E – mail) ของสำนักงานประมงจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด / E-mail ของสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพฯ หรือ (2) สำนักงานประมงอำเภอ / จังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด และสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพฯ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กลุ่มทะเบียนและอนุญาตทำการประมง โทรศัพท์ 0 2561 2341 ในวันและเวลาราชการ