กรมประมงแจก 3 สูตร สารคลุกเคลือบอาหารเสริมคุณภาพสัตว์น้ำ นำร่อง 4 สัตว์น้ำปลาสวยงาม ปลาสลิด กุ้งก้ามกราม ปลาพลวงชมพู หวังเพื่อทำให้สัตว์น้ำมีสุขภาพดีขึ้นทั้งในด้านความสวยงาม ความแข็งแรง และความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมง โดยกองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำได้พัฒนาสูตร “สารคลุกเคลือบอาหารเสริมคุณภาพสัตว์น้ำ” ขึ้น เพื่อช่วยทำให้สัตว์น้ำมีสุขภาพดีขึ้นทั้งในด้านความสวยงาม ความแข็งแรง และความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการวางแผนบริหารจัดการด้านอาหารที่เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะเกษตรกรขนาดเล็กหรือรายย่อยให้สามารถนำไปปรับใช้ด้วยแนวทางการเลี้ยงต้นทุนต่ำเพื่อให้ได้สัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันกรมประมง ได้เริ่มนำร่องให้เกษตรกรได้นำสูตรสารคลุกเคลือบทั้ง 3 ชนิด ไปส่งเสริมใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 4 ชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. สารคลุกเคลือบอาหารเสริมคุณภาพปลาสวยงาม : สูตรนี้จะช่วยเสริมคุณภาพในเรื่องของสีสันสดใสสัตว์น้ำมีสุขภาพแข็งแรง การติดเชื้อโรคในสัตว์น้ำลดน้อยลง สามารถใช้ได้ตั้งแต่การอนุบาลลูกพันธุ์สัตว์น้ำ-พ่อแม่พันธุ์
ปัจจุบันได้ทดลองใช้กับการเลี้ยงปลาทอง ปลากัด เป็นต้น
2. สารคลุกเคลือบอาหารเสริมความแข็งแรงสัตว์น้ำ : สูตรนี้จะช่วยเสริมเรื่องสุขภาพสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำแข็งแรง ทนต่อโรค ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้สัตว์น้ำอ่อนแอและตายยกบ่อได้ อาทิ อากาศเปลี่ยนแปลง การลำเลียงลูกพันธุ์ การย้ายบ่อ คุณภาพน้ำ เชื้อแบคทีเรียต่างๆ ฯลฯ ปัจจุบันได้ลองใช้กับการเลี้ยงปลาสลิด กุ้งก้ามกราม
3. สารคลุกเคลือบอาหารเสริมความสมบูรณ์พ่อ-แม่พันธุ์ : สูตรนี้จะช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ของไข่และน้ำเชื้อของพ่อ-แม่พันธุ์ปลา ทำให้สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาได้ปริมาณเพิ่มมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันได้ลองใช้กับการเลี้ยงปลาพลวงชมพู
ด้านนางสาวลัดดาวัลย์ ครองพงษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตสารคลุกเคลือบอาหารเสริมคุณภาพสัตว์น้ำมีวิธีการใช้ที่ไม่ยุ่งยาก เกษตรกรสามารถใช้ร่วมกับอาหารสัตว์น้ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ โดยสัตว์น้ำแต่ละชนิดจะมีสูตรมีวัตถุดิบและขั้นตอนที่สำคัญต่างกัน ดังนี้
ลำดับที่ วัตถุดิบ สารเสริมปลาสวยงาม สารเสริมความแข็งแรง สารเสริมพ่อ-แม่พันธุ์
ปลาสวยงาม ปลาสลิด กุ้งก้ามกราม ปลาพลวงชมพู 1 ยีสต์ขนมปัง 5.0 5.0 5.0 5.000,2 วิตามินซี 0.5 0.5 0.5 0.200, 3 สาหร่ายสไปรูไลน่า 5.0 5.0 5.0 4.000 ,4 แคลเซียมแลคเตท 3.0 – 3.0 1.500, 5 แอสต้าแซนทีน 0.2 – – –,6 Schizochytrium – – – 1.000, 7 Cu chelate – – – 0.001, 8 Zn chelate – – – 0.001, และ9 สารเหนียว (อัลฟ่าสตาร์ช) 16.3 19.5 16.5 18.298 รวม 30.0 30.0 30.0 30.000
สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญประกอบด้วย สารเสริมตามสูตร 30 กรัมต่ออาหารสัตว์น้ำ 1 กิโลกรัม และกระบอกฉีดน้ำ (ควรใช้น้ำสะอาด) โดยขั้นตอนการคลุกเคลือบสารเสริม มีดังนี้ 1. ฉีดพ่นน้ำสะอาดลงบนอาหารสัตว์น้ำที่เตรียมไว้พอหมาด,2. นำสารเสริมที่เตรียมไว้มาคลุกเคลือบบนเม็ดอาหารหรือนำอาหารที่ฉีดน้ำแล้วใส่ถุงเขย่าพร้อมกับสารเสริม (หากเป็นการคลุกเคลือบอาหารด้วยสารเสริมพ่อ-แม่พันธุ์ ให้เพิ่มน้ำมันปลา 5% ร่วมในการคลุกเคลือบ),3. ผึ่งอาหารที่คลุกเคลือบแล้วในที่ร่มจนแห้ง (ห้ามตากแดด) แล้วจึงนำไปให้สัตว์น้ำกิน
ทั้งนี้ ในส่วนของการเก็บรักษาสารเสริมให้ใส่ถุงซิปล็อคที่ทึบแสงหรือห่อกระดาษให้มิดชิดเพื่อป้องกันแสง และเก็บในตู้เย็นเพื่อรักษาคุณภาพได้ประมาณ 1 เดือน ตามข้อแนะนำดังนี้
สำหรับสัตว์น้ำวัยอ่อน
o หลังการปล่อยสัตว์น้ำลงบ่อให้ใช้สารเสริมคลุกเคลือบอาหารต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์
o เมื่อสัตว์น้ำแสดงอาการป่วย หรือสภาพอากาศ สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงให้ใช้สารเสริมคลุกเคลือบอาหารต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์
สำหรับสัตว์น้ำทั่วไป
o เมื่อมีอาการป่วย หรือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงให้ใช้ต่อเนื่อง 1-2 สัปดาห์
o หากไม่มีความผิดปกติใดๆ แนะนำให้ใช้สารเสริมคลุกเคลือบอาหาร ทุก 2 สัปดาห์ เพื่อให้สัตว์น้ำมีความแข็งแรง
ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง
ข้อแนะนำการใช้สารเสริมสำหรับพ่อ-แม่พันธุ์
o สำหรับเตรียมความพร้อมให้พ่อ-แม่พันธุ์ให้ใช้สารเสริมคลุกเคลือบอาหารต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน
ทั้งนี้ ผลจากการที่เกษตรกรได้นำสารคลุกเคลือบอาหารเสริมคุณภาพสัตว์น้ำทั้ง 3 สูตรไปทดลองใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 4 ชนิด พบว่า
สูตรสารเสริมความแข็งแรงสัตว์น้ำ :
รายที่ 1 นายอุไร ทิพย์สัน เกษตรกรภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (แปลงใหญ่ปลาสลิด) ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี ให้ข้อมูลว่า ทางจรรยวรรธน์ฟาร์มได้ทดลองนำสารเสริมความแข็งแรงมาใช้ในการเลี้ยงปลาสลิดจำนวน 150,000 ตัว/บ่อขนาด 6 ไร่ ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม 2565 พบว่า ลูกปลาแข็งแรง ไม่มีการลอยตาย ต่างจากการเลี้ยงในรอบที่ผ่านมาที่ประสบปัญหาลูกปลาสลิดลอยตายจากอาการท้องอืด และการปรับตัวไม่ทันกับคุณภาพน้ำเมื่อปล่อยลงบ่อเลี้ยง อีกทั้งผลผลิตที่ได้แตกไซส์ทำให้ราคาขายส่งหน้าบ่อลดน้อยลง อีกทั้งบ่อที่ทดลองเลี้ยงไม่ประสบปัญหาน้ำเน่าเสียและเมื่อได้รอบการเก็บผลผลิตจำหน่ายในปี 2566 พบว่าปลาสลิดที่ได้มีขนาดใหญ่และไซส์ใกล้เคียงกัน โดยจับปลาสลิดจำหน่ายได้ทั้งสิ้น 97,820 ตัว แบ่งเป็นไซส์ใหญ่ 5 ตัว/กก. จำนวน 18,775 กก. ไซส์เล็ก 15 ตัว/กก. 263 กก. สร้างรายได้มากถึง 1,466,750 บาท
รายที่ 2 นายศิริชัย เคนลา เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ต.โพหัก อ.บางแพ. จ.ราชบุรี ให้ข้อมูลว่า ทางศุวิมิตรฟาร์ม ได้ทดลองใช้สารเสริมครั้งแรก เนื่องจากเดิมทางฟาร์มประสบปัญหาลูกพันธุ์กุ้งตายเป็นจำนวนมากทั้งระหว่างการเคลื่อนย้ายบ่อ สภาพอากาศแปรปรวนรวมถึงโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกุ้ง ปัจจุบันทางฟาร์มฯ ใช้สารเสริม ตั้งแต่การอนุบาลลูกพันธุ์ร่วมกับอาหารกุ้งที่ใช้อยู่เดิมจำนวน 2 มื้อ เช้า-เย็น เป็นประจำโดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือก่อนการเคลื่อนย้ายลูกพันธุ์กุ้งเพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ลูกพันธุ์กุ้งแข็งแรง ป้องกันการตายง่ายและเพิ่มอัตราการรอดให้สูงขึ้น ปัจจุบันถึงแม้ยังไม่ถึงรอบการจับผลิต แต่ก็พบว่าลูกกุ้งมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง ลำตัวใส ตัวโตได้ขนาดตามเกณฑ์ไม่แตกไซส์ และไม่พบการตายจากกุ้งในบ่อ ซึ่งถือว่าผลออกมาเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้อีก 1-2 เดือนจะจับผลผลิตขึ้นจำหน่วยซึ่งหากอัตราการรอดสูงทางฟาร์มฯ คาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
สูตรสารเสริมปลาสวยงาม :
รายที่ 3 นายกำพล สร้อยแสง เกษตรกรภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (แปลงใหญ่ปลาสวยงาม) ต.ปากแรต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ให้ข้อมูลว่า ทางรุ่งมณีชาฟาร์มได้ทดลองใช้สูตรสารเสริมปลาสวยงามในการเลี้ยงปลาทองมาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี เนื่องจากทางฟาร์มประสบปัญหาปลาตายระหว่างการเลี้ยง และการติดโรคต่างๆ ที่ปะปนมากับอาหารมีชีวิต ซึ่งจากการทดลองใช้พบว่า ปลาสุขภาพแข็งแรงดีขึ้น สีสดเกล็ดแวววาว พบปลาตายน้อย ส่งผลให้ผลผลิตปลาในฟาร์มมีอัตราการรอดที่สูงขึ้น
สูตรสารเสริมความแข็งแรงพ่อ-แม่พันธุ์ :
รายที่ 4 นายการุณ อุไรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา กรมประมง ให้ข้อมูลว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา ได้ดำเนินการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูในระบบโรงเรือน แต่ในการเพาะพันธุ์พบว่าแม่พันธุ์ปลายังไม่สมบูรณ์เต็มที่ สามารถผลิตไข่ปลาได้ปริมาณค่อนข้างน้อยประมาณ 300-500 ฟองต่อแม่ และพบได้ช่วงสั้น ๆ ในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมเท่านั้น อีกทั้งจากการเพาะพันธุ์แบบผสมเทียมพบว่าไข่ปลาที่ปฏิสนธิกับน้ำเชื้อนั้นมีอัตราการฟักเป็นตัวต่ำ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ยังไม่สามารถเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพูได้อย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2563 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดยะลา ได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพูแต่ไข่ที่ได้ไม่สมบูรณ์ทำให้มีอัตราฟักที่ต่ำเพียง 5.4 % เท่านั้น และปี 2564-2565 ได้มีการทดลองนำสารเสริมในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoid) ยีสต์ และแร่ธาตุ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์และเพิ่มคุณภาพของไข่ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งพบว่าจำนวนแม่ปลาพลวงชมพูมีความสมบูรณ์ของไข่เพิ่มขึ้น มีปริมาณไข่ประมาณ 1,000 ฟองต่อแม่ อัตราฟักดีขึ้น สามารถผลิตลูกปลาพลวงชมพูได้มากยิ่งขึ้น
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า การเลี้ยงสัตว์น้ำให้เจริญเติบโตเพื่อสืบพันธุ์สร้างผลผลิตให้เกษตรกรนั้น แน่นอนว่า คุณภาพของอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งนอกจากอาหารจะต้องมีคุณภาพที่ดีแล้ว อาหารควรมีราคาถูกด้วยเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตปลาต่ำ ซึ่งจะทำให้ผู้เลี้ยงปลามีกำไรมากขึ้นอีกด้วยสำหรับเกษตรกรผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ กรมประมง เบอร์โทรศัพท์. 02-562-0600 ต่อ 4412,4512 หรือทางเว็บไซต์ www4.fisheries.go.th/afr ©