กรมประมง ออกประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำด้วยการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามันประจำปี 2566 ในพื้นที่ 4 จังหวัด 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2566 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร ย้ำขอให้ชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น
วันที่ 30 มีนาคม 2566 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีออกประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2566 (ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน) อย่างเป็นทางการ เป็นเวลา 3 เดือน ณ บริเวณท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลกระบี่ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เพื่อฟื้นฟูสัตว์น้ำวัยอ่อน ในพื้นที่ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง เริ่ม 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. นี้ ฯ ว่า กรมประมงได้มีการดำเนินมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน มาอย่างต่อเนื่องกว่า 38 ปี (ตั้งแต่ปี 2528) เพื่อให้สัตว์น้ำได้วางไข่แพร่ขยายพันธุ์ พร้อมที่จะเจริญเติบโตและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรประมง มุ่งเน้นการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ผลการศึกษาทางวิชาการในช่วงการประกาศใช้มาตรการฯ ปี 2565 พบสัตว์น้ำวัยอ่อนมีความหนาแน่นสูงสุดถึง 1,197 ตัว/1,000 ลูกบาศก์เมตร มากกว่าช่วงก่อนประกาศใช้มาตรการฯ ที่มีความหนาแน่เพียง 470 ตัว/1,000 ลบ.ม. เท่านั้น (ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2565) อีกทั้ง ยังพบว่าปลาเศรษฐกิจหลายชนิดมีความสมบูรณ์เพศสูง ประกอบกับ สถิติผลการจับสัตว์น้ำของเรือประมงพาณิชย์และพื้นบ้านทางฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (พื้นที่ประกาศใช้มาตรการฯ) ในปี 2565 มีผลการจับปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญมีปริมาณมากถึง 8,858 ตัน สูงกว่าเมื่อปี 2560 ก่อนการปรับปรุงมาตรการฯ กว่า 5,935 ตัน (ปี 2560 มีปริมาณการจับ 2,923 ตัน) จึงเป็นการยืนยันได้ว่ามาตรการฯ ที่ใช้มีความสอดคล้อง ถูกต้อง และเหมาะสมทั้งในด้านพื้นที่และช่วงเวลาการประกาศใช้มาตรการฯ และเป็นผลดีต่อการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ
ดังนั้นในปีนี้ กรมประมงจึงคงมาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ในช่วงเวลา พื้นที่ และเครื่องมือที่อนุญาตให้ใช้เช่นเดิม ตามประกาศกรมประมงฯ พ.ศ. 2561 คือ ในเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2566 จึงขอเน้นย้ำให้พี่น้องชาวประมงโปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมง โดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น เครื่องมืออื่น ๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครอง สำหรับงานวันนี้ มีการประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการประกาศใช้มาตรการฯ และปล่อยเรือตรวจการประมงทะเล จำนวน 6 ลำ ออกปฏิบัติการ และยังมีการมอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการประมง ประจำปี 2566 ให้แก่ผู้นำองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นจำนวน 21 ชุมชน ชุมชนละ 100,000 บาท แบ่งเป็นชุมชนในจังหวัดกระบี่ 9 ชุมชน จังหวัดตรัง 4 ชุมชน จังหวัดพังงา 5 ชุมชน และจังหวัดภูเก็ต 3 ชุมชน
เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพและฟื้นฟูทรัพยากรประมง ผ่านการดำเนินงานใน 4 กิจกรรม ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ การพัฒนาอาชีพประมง การถ่ายทอดเทคโนโลยีและเพิ่มทักษะการทำการประมง และการเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ พร้อมปล่อยพันธุ์ปูม้าจำนวน 100,000 ตัว และกุ้งแชบ๊วย 2,000,000 ตัว คืนความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำลงสู่ทะเลกระบี่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการนำเสนอข้อมูลความรู้ทางการประมงเกี่ยวกับมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน พื้นที่ทะเลอันดามัน รวมถึงยังมีการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงจากกลุ่มชุมชนประมงพื้นบ้าน ภายใต้ร้าน Fisherman Shop อีกด้วย กรมประมงขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายมาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามันตลอดมา รวมถึงให้ความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำที่คุ้มค่า และเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงต่อไป